เปิดโครงการ “รณรงค์ความปลอดภัย ทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2564” พร้อมเปิดบริการสายด่วน คปภ. 1186 ตลอด 24 ชั่วโมง ช่วง 7 วันอันตราย
เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานพิธีแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “รณรงค์ความปลอดภัยทางถนน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2564” ภายใต้แนวคิด "สงกรานต์สุขใจ ขับขี่ปลอดภัย ห่างไกลโควิด" โดยมีผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ประธานสภาธุรกิจประกันภัยไทย นายกสมาคมประกันชีวิตไทย นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย นายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน นายกสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย นายกสมาคมการค้าผู้สำรวจภัยไทย บริษัทประกันชีวิต เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ และบริษัทประกันวินาศภัย เข้าร่วมการจัดกิจกรรมดังกล่าว ณ สถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง ชั้น 2 สำนักงาน คปภ. เพื่อสร้างกระแสให้เกิดการรับรู้กระตุ้นจิตสำนึกในการขับขี่ปลอดภัย และส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงในชีวิตและทรัพย์สิน
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า แม้ว่าตัวเลขอุบัติเหตุและจำนวนผู้เสียชีวิตในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของปี 2563 จะลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ภาครัฐมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนเดินทางน้อยและเกิดอุบัติเหตุทางถนนลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่สำหรับช่วงเทศกาลปีใหม่ปี 2564 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ก็ยังเป็นสถิติที่สูงอยู่ โดยพบว่าในช่วง 7 วันของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2563 - 4 มกราคม 2564 เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนรวม 3,333 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 392 ราย และผู้บาดเจ็บ 3,326 ราย โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว เมาแล้วขับ รถตัดหน้ากระชั้นชิด และไม่สวมหมวกนิรภัย ซึ่งยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ สูงถึงร้อยละ 82.55 นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องถนนและสภาพแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ถนนที่เป็นทางตรงระยะยาว ถนนที่มีทางร่วมทางแยก และจุดกลับรถที่มีลักษณะที่ไม่ปลอดภัย จากสถิติข้างต้น ทำให้สำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจ เห็นความสำคัญของการรณรงค์ สร้างจิตสำนึก ความปลอดภัยทางถนนควบคู่ไปกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถจักรยานยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุนั้นไม่มีการทำประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับหรือประกันภัย พ.ร.บ. เป็นจำนวนมาก ดังนั้น สำนักงาน คปภ. ในฐานะคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน และทำหน้าที่ในการกำกับดูแล และส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ตลอดจนคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านประกันภัยให้ได้รับความเป็นธรรม จึงได้บูรณาการทำงานเชิงรุกร่วมกับภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัย ให้เข้าไปมีบทบาทในการบริหารความเสี่ยงให้แก่ทุกภาคส่วน โดยดำเนินโครงการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนมาอย่างต่อเนื่อง และมีกิจกรรมส่งเสริมและรณรงค์ด้านความปลอดภัยทางถนนภายในงาน ประกอบด้วย กิจกรรมมอบหมวกนิรภัย การแสดงนิทรรศการความปลอดภัยทางถนนของภาคอุตสาหกรรมประกันภัย กิจกรรมประชาสัมพันธ์ประกันภัยกลุ่ม 10 บาท สงกรานต์อุ่นใจ นิวนอร์มอล ซุปเปอร์พลัส และบริเวณหน้าศูนย์บริการด้านการประกันภัย ให้บริการตรวจเช็ค เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและหลอดไฟรถจักรยานยนต์ ฟรี เป็นต้น
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า สำหรับเทศกาลสงกรานต์ 2564 สำนักงาน คปภ. ได้ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ได้นำแนวคิดและรูปแบบของประกันภัยกลุ่มปีใหม่ 10 บาท นิวนอร์มอลพลัส มาต่อยอดพัฒนาให้เป็น “ประกันภัยกลุ่ม 10 บาท สงกรานต์อุ่นใจ นิวนอร์มอล ซุปเปอร์พลัส” โดยเพิ่มความคุ้มครองการติดเชื้อโควิด-19 และแพ้วัคซีนโควิด-19 และจ่ายเบี้ยประกันภัยเพียง 10 บาท โดยให้ความคุ้มครองหลัก ๆ คือ
ความคุ้มครองที่ 1 กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง เนื่องจากอุบัติเหตุ ไม่รวมการถูกฆาตกรรม ลอบทำร้ายร่างกายและ/หรือ อุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ จะได้รับความคุ้มครอง 100,000 บาท
ความคุ้มครองที่ 2 กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จากการถูกฆาตกรรม ลอบทำร้ายร่างกาย และ/หรือ อุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ จะได้รับความคุ้มครอง 50,000 บาท
ความคุ้มครองที่ 3 ค่าใช้จ่ายในการจัดการงานศพกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย (ยกเว้นกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยภายใน 14 วันแรก นับจากวันเริ่มต้นระยะเวลาประกันภัย) รวมถึงกรณีเสียชีวิตจากผลกระทบการฉีดวัคซีน โควิด-19 โดยคุ้มครองตั้งแต่วันแรกที่ทำประกันภัยและมีการฉีดวัคซีนหลังทำประกันภัย จะได้รับความคุ้มครอง 5,000 บาท
ความคุ้มครองที่ 4 ค่าชดเชยรายวันระหว่างการเข้ารักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน เนื่องจากอุบัติเหตุ รวมถึงได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 วันละ 300 บาท ไม่เกิน 20 วัน จะได้รับความคุ้มครองไม่เกิน 6,000 บาท
ความคุ้มครองที่ 5 กรณีติดเชื้อโควิด-19 จะได้รับคุ้มครอง 3,000 บาท
โดยมีเงื่อนไขการรับประกันภัยที่สำคัญ คือผู้ทำประกันภัยต้องมีอายุตั้งแต่ 20 ปีบริบูรณ์ ถึง 70 ปีบริบูรณ์ ณ วันที่ทำประกันภัย ระยะเวลาคุ้มครอง 30 วัน และผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ เป็นผู้ถือกรมธรรม์ โดยเริ่มจำหน่าย ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 - 31 พฤษภาคม 2564 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ไทยให้กับคนไทยทั่วประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากประกันภัย 10 บาท ดังกล่าว เป็นกรมธรรม์กลุ่ม ผู้สนใจสามารถรับสิทธิจากผู้ประกอบการธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 22 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท ทีคิวเอ็ม อินชัวรันส์ โบรคเกอร์ จำกัด บริษัท เคาน์เตอร์ เซอร์วิส จำกัด บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท แอดวานซ์ ดิจิทัล ดิสทริบิวชั่น จำกัด บริษัท เดอะวันเซ็นทรัล จำกัด บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (ตู้บุญเติม) บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (Cafe Amazon) บริษัท ไทยพาณิชย์ โพรเทค จำกัด
บริษัท ฮักส์ อินชัวรันส์ โบรคเกอร์ จำกัด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ฐิติกร สำนักงานใหญ่จักรยานยนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) บริษัท เทสโก้ เจเนอรัล อินชัวรันส์ โบรคเกอร์ จำกัด ธนาคารออมสิน บริษัท แรบบิท อินชัวรันส์ โบรคเกอร์ จำกัด บริษัท พีเคอาร์ โบรกเกอร์ จำกัด บริษัท หยั่น หว่อ หยุ่น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด บริษัท ศรีกรุงโบรคเกอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอ เอ็น ซี โบรกเกอร์เรจ จำกัด และ บริษัท 724 จำกัด (มหาชน) หรือถ้าเป็นบุคคลทั่วไปสามารถรวมตัวเป็นกลุ่ม ซื้อได้โดยตรงจากบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 23 แห่ง
สำหรับเทศกาลสงกรานต์ 2564 ที่กำลังจะมาถึงนี้ สำนักงาน คปภ. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยว จะขับขี่รถด้วยความไม่ประมาท และผู้ที่ใช้รถยนต์อย่าลืมคาดเข็มขัดนิรภัย ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัย เมาไม่ขับ เตรียมสภาพร่างกาย และตรวจสภาพรถให้พร้อม ปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด และที่สำคัญควรตรวจวันหมดอายุกรมธรรม์ประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ตามที่กฎหมายกำหนด และควรทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจและประกันชีวิตอื่น ๆ ด้วย เพื่อที่ระบบประกันภัยจะได้เข้ามาช่วยเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ และกับทุกคน และด้วยความไม่ประมาท อย่าลืมสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง ก่อนออกจากบ้าน ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประกันภัยสามารถสอบถามได้ตลอด 24 ชั่วโมง ในช่วง 7 วันอันตราย คือระหว่างวันที่ 10-19 เมษายน 2564 ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ Add Line Official @oicconnect ” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย