นายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเรื่อง “รถไฟพลิกโฉมเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย” ซึ่งหอการค้า จ.เชียงราย ร่วมกับสมาคมสื่อมวลชนและนักประชาสัมพันธ์เชียงราย จัดขึ้นที่ห้องดอยตุง โรงแรมดุสิต ไอส์แลนด์ รีสอร์ท
โดยมีนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นวิทยากรในการบรรยาย และทาง ร.ฟ.ท.ยังได้จัดนิทรรศการเกี่ยวกับโครงการถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย เชื่อมจาก อ.เด่นชัย จ.แพร่ ผ่าน จ.ลำปาง จ.พะเยา มายัง อ.เมืองเชียงราย-เชียงของ ชายแดนไทย-สปป.ลาว ด้านหน้าห้องประชุมด้วย ท่ามกลางผู้เข้าร่วมรับฟังมากกว่า 500 คน
นายวุฒิชาติกล่าวว่า ขณะนี้เส้นทางรถไฟในประเทศไทยมีครอบคลุมทั่วทุกภาค เหลือเพียง 2 เส้นทางเท่านั้นที่ยังไม่มีการก่อสร้างมาช้านาน คือ เส้นทางสายบ้านไผ่ จ.พระนครศรีอยุธยา-นครพนม และสายเด่นชัย-เชียงราย แต่รัฐบาลชุดนี้ได้ให้ความสำคัญมาก ในฐานะ ร.ฟ.ท.ตนจึงพยายามขับเคลื่อนให้สำเร็จ
โดยเฉพาะเส้นทางเด่นชัย-เชียงราย ที่ล่าช้ามาตั้งแต่ปี 2503 หรือกว่า 56 ปีมาแล้ว ซึ่งการขับเคลื่อนจะใช้รูปแบบบรางคู่ที่ได้ศึกษาครั้งล่าสุดเมื่อปี 2544 เป็นต้นแบบ เนื่องจากมีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ แล้วเสร็จแล้วเมื่อเดือนตุลาคม 59 ที่ผ่านมา
นายวุฒิชาติบอกว่า ตามแนวทางนี้ เส้นทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย จะมีระยะทาง 323 กิโลเมตร 26 สถานี ผ่านพื้นที่ 59 ตำบล 17 อำเภอ ของ 3 จังหวัดแพร่-พะเยา-เชียงราย มีอุโมงค์ 3 แห่ง คือ อ.สอง จ.แพร่ ยาว 6.4 กิโลเมตร ซึ่งยาวที่สุดในประเทศ, อุโมงค์ที่สอง อ.เมืองพะเยา 2.8 กิโลเมตร และ อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย 3.6 กิโลเมตร ตลอดรายทางมีระบบบป้องกันอุบัติเหตุ เช่น สะพานข้าม 380 แห่ง ทางยกระดับ ฯลฯ
นายวุฒิชาติกล่าวอีกว่า ความล่าช้าของแบบชุดล่าสุด เพราะต้องศึกษาอีไอเอ ผ่านพื้นที่ป่าเขา ที่ชุ่มน้ำชั้น 1 เอ ซึ่งบางจุดต้องศึกษาตามฤดูกาล แต่เมื่อแล้วเสร็จตนจะรีบจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการ จากนั้นนำเสนอสู่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อขออนุมัติไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถก่อสร้างได้ในปี 2560 ด้วยงบประมาณ 76,980 ล้านบาท (งบก่อสร้าง 7.3 หมื่นล้าน ที่เหลือเป็นค่าเวนคืนที่ดิน) ใช้ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างนาน 48 เดือน
“เพื่อกันรันตีเรื่องระยะเวลา ผมจะหารือกับที่ปรึกษา และทีมวิศวกร ร.ฟ.ท.ให้แบ่งเส้นทางก่อสร้างเป็นช่วงๆ อาจจะเป็น 3 ช่วง เพื่อสร้างไปพร้อมๆ กัน แทนการสร้างเป็นทางยาวรวดเดียว ซึ่งจะทำให้ล่าช้าอีก”
นายวุฒิชาติบอกอีกว่า จะรีบจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการ ร.ฟ.ท.ให้ได้ภายในเดือนธันวาคม 59 นี้ และจะหารือกับทีมที่ปรึกษาและวิศวกรเกี่ยวกับบการแบ่งพื้นที่ก่อสร้างควบคู่กันไป เพื่อให้การรอคอยของชาวเชียงรายสิ้นสุดเสียที
“คิดว่าถ้าเราทำตามนี้จะเร็วแน่ จากนั้นก็จะนำเสนอสู่สภาพัฒน์ ซึ่งขั้นตอนนี้จะใช้เวลาราว 3-4 เดือน เพื่อเข้าสู่คณะรัฐมนตรี คาดว่าภายในเดือน ธ.ค. 2560 ก็จะเห็นน้ำเห็นเนื้อ และใช้ระยะเวลาก่อสร้างอีก 3 ปี เราก็จะได้เห็นรถไฟกันในปี 2563 คาดการณ์ว่าในปี 2565 จะมีผู้โดยสารมากถึง 2,004,215 คนต่อปี และมีปริมาณสินค้ามากถึง 2,095,930 ตันต่อปี”
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะถึงเวลานั้นเราก็ทำงานอื่นๆ ควบคู่กันไปเรื่อยๆ เช่น อยากให้ทางจังหวัดออกแบบป้ายหรือสถานีรายทางให้เป็นเอกลักษณ์ล้านนา ซึ่งเรื่องนี้ต้องแจ้งก่อนล่วงหน้าด้วย
ด้านนายบุญส่งกล่าวว่า หากเส้นทางรถไฟเชื่อมถึงเชียงรายจะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะเชียงรายมีความโดดเด่นด้านการค้าชายแดน ที่เติบโตขึ้นสวนกระแสการค้าโลกในปัจจุบัน เพราะเป็นการลดต้นทุนการขนส่ง ซึ่งจะทำให้มูลค่าการค้าเพิ่มมากขึ้นไปอีกแน่นอน นอกจากนี้ยังมีผลดีต่อการเดินทางโดยสาร และเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย
น.ส.ผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่า ได้เสนอให้มีการสร้างเส้นทางเชื่อมไปยังชายแดนด้าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ด้วย เพราะปัจจุบันในรัฐฉานของพม่ามีเส้นทางรถไฟสายกรุงย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์-ตองจี แล้ว และพม่าก็มีแผนจะสร้างเส้นทางรถไฟสายตองจี-ท่าขี้เหล็ก ตรงข้าม อ.แม่สาย ซึ่งหากมีเส้นทางเชื่อมกันก็เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อีกมาก