สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ร่วมมือกับกระทรวงสิ่งแวดล้อมฯ เยอรมัน เดินหน้านโยบายอนุรักษ์พลังงานของไทย (EEP 2015) ทั้งภาคอุตสาหกรรม และภาคอาคารธุรกิจ เพื่อลดการปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจก เผยกลางปี’59 พร้อมส่งมอบผลงานและแผนงาน ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ดร.อธิปัตย์ บำรุง ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการความร่วมมือไทย - เยอรมัน ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งโครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ การก่อสร้าง และความปลอดภัยทางปรมาณูแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUB) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการบูรณาการแผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศไทย (EEP 2015) ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคอาคารธุรกิจ อันจะส่งผลให้เกิดการลดการปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจก โดยโครงการได้ดำเนินการมาเป็นเวลากว่า 3 ปี และดำเนินกิจกรรมที่มีความสอดคล้องกับ EEP 2015 โดยเฉพาะมาตรการอนุรักษ์พลังงานใหม่ๆ ที่ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์อย่างยิ่งจากการถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์และแนวทางการปฏิบัติที่ดีจากต่างประเทศ
การประชุมคณะกรรมการฯ ในครั้งนี้ ได้จัดขึ้นเพื่อนำเสนอความก้าวหน้าและผลงานของโครงการแก่คณะกรรมการฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหลายภาคส่วน ได้แก่ ผู้แทนจากกระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์กรบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก การไฟฟ้าทั้ง 3 หน่วยงาน ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมและสมาคมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์พลังงาน โดยกิจกรรมที่สำคัญภายใต้โครงการ ได้แก่ การจัดทำข้อมูลฐานและการบริหารข้อมูลพลังงาน ที่ได้พัฒนาดัชนีประสิทธิภาพการใช้พลังงานในระดับภาคเศรษฐกิจสาขาย่อยของภาคอุตสาหกรรม ภาคอาคารที่อยู่อาศัย และภาคขนส่ง ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือในการวางแผนนโยบายและการติดตามประเมินผลการดำเนินมาตรการอนุรักษ์พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ในส่วนของมาตรการภาคบังคับได้ศึกษา แนวทางมาตรการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยผู้ผลิตไฟฟ้า (Energy Efficiency Resources Standards, EERS) เป็นมาตรการใหม่สำหรับประเทศไทย แต่ได้มีการดำเนินการแล้วในหลายประเทศ โครงการจึงได้พัฒนาคู่มือแนวทางการออกแบบมาตรการ EERS ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ซึ่ง ดร.อธิปัตย์ ได้เสนอให้ควรมีการดำเนินมาตรการนี้ภายใต้แนวคิดการทำ CSR โดยผู้ผลิตและจำหน่ายพลังงานก่อน เพื่อเป็นการนำร่องและติดตามผลการดำเนินงานก่อนที่จะนำสู่การขยายผลต่อไป