นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย รองผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทยด้านธุรกิจและปฏิบัติการ กล่าวว่า ในยุคที่ทุกประเทศประสบปัญหาโควิดทำให้เกษตรกรบางส่วนได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ ดังนั้น กยท.จึงหาทางช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการวิจัยสร้างนวัตกรรมใหม่ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากยางพารา และเพิ่มช่องทางการขาย สร้างรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยาง
ทั้งนี้ กยท.เริ่มทำบางชิ้นสำเร็จออกมาเป็นผลิตภัณฑ์แล้ว และนำไปสร้างองค์ความรู้ต่อให้กับเกษตรกร ซึ่ง กยท.พิจารณาจากสหกรณ์ที่มีความพร้อมด้านศักยภาพและด้านบุคลากร โดย กยท.จะเข้าไปสนับสนุนให้คำแนะนำทั้งเรื่องเงินลงทุน การถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงช่วยหาตลาดให้เกษตรกรจำหน่าย
โดยเมื่อปลายปีที่ผ่านมามีการลงนามระหว่าง ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง การยางแห่งประเทศไทย ในการถ่ายทอดเทคโนโลยี บล็อกยางปูพื้นรูปตัวหนอน ให้กับชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางสตูล จำกัด หรือการทำแผ่นยางกันกระแทกปูพื้นสนามเด็กเล่นและแผ่นยางกันกระแทกปูพื้นด้านในสำหรับผู้สูงอายุเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต
นอกจากนี้ กยท.ยัง ได้เข้าไปสนับสนุนกลุ่มเกษตรกร ที่รับทำโครงการ แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต สำหรับกลุ่มที่ไม่มีเครื่องตีน้ำยาง ทาง กยท.จะทำการผสมยางขายให้ในราคาถูก เพราะบางกลุ่มมีแค่เครื่องอัด แค่ถ้าลงทุนซื้อเครื่องตีราคาหลายสิบล้านบาทจะไม่คุ้มทุน
ด้าน ดร.นภาวรรณ เลขะวิพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง กล่าวว่าตอนนี้ได้มีโครงการทำ ตุ๊กตาเด็กปากแหว่งเพื่อฝึกทักษะผู้ปกครองในการให้นมและทำความสะอาดช่องปากเด็กที่เสมือนจริง และสามารถต่อยอดเป็นหุ่นฝึกหัดกรอฟันต่อไปได้ รวมถึงยางกัดสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ เพื่อช่วยทำความสะอาดช่องปากและฝึกออกกำลังขากรรไกร นอกนี้จากยังครอบคลุมการจัดทำสื่อโมเดลสุขภาพช่องปากอื่นๆ ซึ่งจะมีน้ำหนักเบาและไม่แตกหักง่าย เมื่อเทียบกับโมเดลที่เป็นปูนปลาสเตอร์