ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด 19 รายใหม่ เพิ่มขึ้นวันละ 1,000 กว่าราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อรอเตียงจำนวนมาก ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับโรงพยาบาลทุกสังกัดบริหารจัดการเตียง ยืนยันมีเตียงเพียงพอ ทั้งโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก โรงพยาบาลสนามและ Hospitel สำหรับผู้ติดเชื้อที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ โดยมีเกณฑ์ประเมินผู้ติดเชื้อที่จะเข้ารับการรักษาตามอาการ และมีศูนย์ประสานงาน 3 สายด่วน ได้แก่ สายด่วน 1668 ,สายด่วน 1669 และสายด่วน 1330
ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า สำหรับสายด่วน 1668 กรมการแพทย์ เป็นสายด่วนเฉพาะกิจ เปิดขึ้นเพื่อเป็นศูนย์ประสานงานรวบรวมเตียงจากทุกสังกัด ในเขตกทม.และปริมณฑล โดยผลการดำเนินงานตั้งแต่ วันที่ 10-18 เมษายน 2564 ประสานการจัดหาเตียงให้ผู้ติดเชื้อในกลุ่มสีแดง สีเหลืองและสีเขียวสามารถเข้าสู่การรักษาได้เกือบทั้งหมดแล้ว โดยมีผู้ประสงค์ขอเตียง จำนวน 1,204 คน รับเข้าโรงพยาบาลแล้ว 627 คน ที่เหลือคาดว่าจะได้เตียงภายใน 1-2 วัน ระหว่างรอเตียงได้จัดให้ทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่โทรเยี่ยมติดตามอาการทุกวัน อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ป่วยบางส่วนที่ไม่ประสงค์เข้ารับการรักษาตามระบบของกระทรวงสาธารณสุขประสานให้ ทำให้มียอดคงค้างในระบบ ส่วนผู้ติดเชื้อที่ไปรับการตรวจในคลินิกหรือโรงพยาบาลที่ไม่มีเตียงรองรับจะใช้เวลารอการประสานจัดหาเตียง ไม่เกิน 24-48 ชั่วโมง
“ขอย้ำว่าตอนนี้มีเตียงว่างอยู่ แต่ความต้องการอาจไม่ตรงกับสิ่งที่จัดให้ ซึ่งตามหลักแล้วผู้ติดเชื้อทุกรายต้องเข้ารับการรักษาทุกกรณี ตามเกณฑ์สีเขียว เหลือง แดง กระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วงผู้ติดเชื้อทุกราย หากคิดว่าไม่มีอาการและนอนอยู่บ้าน จนมีอาการรุนแรงขึ้นอาจเข้ารับการรักษาไม่ทัน จะทำให้อาการหนักรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่หากเข้ารักษาในระบบอยู่ในความดูแลของแพทย์ จะช่วยลดความรุนแรงของโรคและลดการสูญเสียได้ สำหรับผู้ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนาม ขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตาม กฎระเบียบ เพื่อช่วยให้การจัดการและการดูแลผู้ติดเชื้อเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ”ดร.สาธิต กล่าว
ด้านนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวต่อว่า ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ติดเชื้อที่รอเตียงและรอผลการตรวจ ขอให้งดพบปะผู้คน, ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด โดยสวมหน้ากากตลอดเวลา หมั่นล้างมือ โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสจุดเสี่ยง, แยกห้องส่วนตัว แยกห้องน้ำ ของใช้ส่วนตัว ไม่รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น เพื่อลดการแพร่เชื้อสู่คนในครอบครัว สำหรับกรณีมารดาที่ให้นมบุตร ยังสามารถให้นมบุตรได้ เนื่องจากข้อมูลองค์การอนามัยโลก พบว่า ไม่พบเชื้อโควิด 19 ในน้ำนม แต่มารดาต้องเคร่งครัดมาตรการป้องกันตนเอง ทำความสะอาดร่างกาย สวมหน้ากากตลอดเวลา