ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 1) ประจำปี 2564 มี นายคำรณ โกมลศุภกิจ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม ณ อาคารไอราวัตพัฒนา กทม.2 ดินแดง นั้น พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯ กทม. ได้เสนอญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 (ฉบับที่ ..) พ.ศ.... เนื่องด้วย กทม. มีความจำเป็นในการชำระหนี้ ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 1 ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า และส่วนต่อขยาย 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จำนวน 9,246,748,339 บาท
โดย นายธวัชชัย ฟักอังกูร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจการเงินการคลังและการติดตามงบประมาณกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.ต้องรับภาระหนี้ที่รับโอนจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จำนวน 156,165.4 แสนล้านบาท และค่าจ้างจัดการเดินรถ ส่วนต่อขยาย 1 และส่วนต่อขยาย 2 จำนวน 184,506.6 แสนล้านบาท รวมทั้งเงินลงทุนและหนี้สิน อีก 207,459.7 แสนล้านบาท
ขณะที่สถานะทางการคลัง รายรับจริงลดลงเป็นปีแรกในปี 2563 ส่วนเงินสะสมที่เดิมมีอยู่ 66,385.50 ล้านบาท ได้มีค่าใช้จ่าย รวม 13 รายการ เป็นเงิน 55,133.84 ล้านบาท ทำให้เงินสะสมคงเหลือจำนวน 11,171.96 ล้านบาท หากต้องนำเงินสะสมออกมา จำนวน 9,246,748,339 บาท จะทำให้เงินสะสมคงเหลือเพียง จำนวน 2 พันล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเป็นเงินคงเหลือจำนวนไม่มาก
ทั้งนี้การหลักเกณฑ์การจ่ายขาดเงินสะสม ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องเงินสะสม พ.ศ.2562 ข้อ 12 การจ่ายขาดเงินสะสม ให้ทำได้ในกรณีอยู่ในอำนาจหน้าที่ และมีความจำเป็นเร่งด่วน ที่เกี่ยวกับการบริการชุมชนและสังคม หรือการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนโดยตรง หรือเพิ่มรายได้ให้กับกรุงเทพมหานครและต้องเป็นไปตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานครหรือตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ให้คำนึงถึงฐานะเงินสะสมของกรุงเทพมหานครด้วย
ดังนั้น การจ่ายขาดเงินสะสมดังกล่าว ไม่เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร จึงไม่เห็นชอบให้จ่ายขาดเงินสะสม เพื่อจัดทำร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เพราะการจ่ายเงินขาดสะสม จะมีผลกระทบต่อฐานะเงินสะสมของกรุงเทพมหานคร ทำให้การบริหารงานเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง เนื่องจากในปีงบประมาณ 2564 กทม.ได้ใช้เงินสะสมตามความจำเป็นเร่งด่วนไปแล้วจำนวนมาก และยังต้องนำไปจ่ายในรายการที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและรายการอื่นที่จำเป็นต่อประโยชน์ประชาชน
นอกจากนี้ เนื่องจากภาระหนี้โครงการรถไฟฟ้าดังกล่าวที่รับโอนจาก รฟม. ยังคงมีอยู่จำนวนมากถึงแม้ในระยะเวลาที่ผ่านมา จะมีการตั้งงบประมาณชดใช้เป็นบางส่วนแล้ว แต่หากนับไปจนถึงปี 2572 ซึ่งเป็นปีสุดท้าย กทม.ยังคงต้องรับภาระ ส่วนที่เป็นดอกเบี้ยและต้องชดเชย การจัดการเดินรถที่ยังคงขาดทุนคิด เป็นจำนวนเงินนับ 100,000 ล้านบาท ซึ่งเกินกำลังสถานะทางการคลังของกรุงเทพมหานคร ที่ปัจจุบันกลับมีรายได้ลดลง แต่ยังมีภาระหน้าที่ต้องจัดบริการสาธารณะในด้านต่างๆ
อย่างไรก็ตาม จึงมีข้อเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ โดยกำหนดสัดส่วนการลงทุนระหว่างรัฐบาลกับ กทม. ตามมติ คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) หรือใช้วิธีให้เอกชนรับภาระและให้ประโยชน์ตอบแทนในรูปแบบสัมปทานเดินรถ หากไม่สามารถดำเนินการตามข้อเสนอควรส่งโครงการดังกล่าวกลับคืนให้ รฟม. โดยจัดทำข้อตกลงและเงื่อนไขต่างๆในหลักการเดียวกันกับเมื่อครั้งที่ กทม.รับโอนโครงการมา
ทั้งนี้ ที่ประชุมสภา กทม. จึงมีมติไม่เห็นชอบญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 (ฉบับที่ ..) พ.ศ....ดังกล่าว