ทั้งนี้ มีรายงานข่าวแจ้งว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียยงใหม่ ได้เผยแพร่ประกาศเชิญชวนยื่นข้อเสนอกระทำกิจการโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอย เพื่อแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิงขยะและผลิตกระแสไฟฟ้า ครั้งที่ 2 โดยกำหนดสถานที่ดำเนินการ ณ ศูนย์จัดการขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจร ของ อบจ.เชียงใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ที่ หมู่ 1 ต.ป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ กำหนดราคากลางของโครงการรวมทั้งสิ้น 1,881,510,000 บาทหรือเกือบ 2 พันล้านบาท
โดยโครงการเปิดทางให้เอกชน ผู้สนใจ ดำเนินการยื่นข้อเสนรอหลากหลายรูปแบบ ทั้งนิติบุคคลรายเดียวและนิติบุคคลจากต่างประเทศ,กิจการร่วมค้า ซึ่งต้องได้รับการขึ้นทะเบียนในไทย ตามเงื่อนไขกรมพัฒนาธุรกิจ และกิจการร่วมค้า โดยยื่นข้อเสนอและเสนอราคา ที่ศูนย์จัดซื้อจัดจ้าง อบจ.เชียงใหม่ ในวันที่ 24 พ.ค.นี้ เวลา 9.00-11.00 น. มีการเปิดให้ขอซื้อเอกสารเชิญชวน รายละเอียดโครงการชุดละ 5 พันบาท ระหว่าง 20 เม.ย.-21 พ.ค.2564 หลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอครั้งนี้ อบจ.เชียงใหม่ ระบุว่าจะพิจารณาตามปัจจัยที่กำหนด ในแต่ละด้าน ทั้งข้อเสนอที่มีคุณภาพ เป็นประโยชน์ต่อทางราชการ ร้อยละ 70 ข้อเสนอผลประโยชน์ตอบแทน ร้อยละ 30 ในระยะเวลา 25 ปี ซึ่งค่าจ้างที่ อบจ.เชียงใหม่ จะจ่ายให้เอกชนที่ผ่านการคัดเลือก ปริมาณขยะ 650 ตัน/วัน ในอัตรา ตันละ 500 บาท คูณระยะเวลาจ้างเหมา 9,125 วัน
เอกชนผู้ได้รับเลือกมีสิทธิ์ยื่นขอปรับเพิ่มค่ากำจัดขยะ ร้อยละ 5 ทุกๆ 5 ปี เป็นต้น และมีการประมาณการผลประโยชน์ตอบแทนในการจ้างเหมาจัดการขยะ เป็นเงินกว่า 2,965 ล้านบาท ตลอดระยะเวลาสัมปทานด้วย
สำหรับโครงการดังกล่าว เริ่มต้นจากการที่ จ.เชียงใหม่ มีการจัดแบ่งพื้นที่จัดการขยะเมือง และ อบจ.เชียงใหม่ ได้จัดงบดำเนินโครงการกำจัดขยะมูลฝอยในรูปแบบโรงงานทำปุ๋ยหมัก จากของเหลือใช้ของ อบจ.เชียงใหม่ บนพื้นที่กว่า 160 ไร่ ในหมู่ที่ 1 บ้านป่าตึงน้อย ต. ป่าป้อง อ. ดอยสะเก็ด จ. เชียงใหม่ ดำเนินการตั้งแต่ ปี 2543 ก่อสร้างโดย บ.วีพีเอ็น คอลเล็กชัน จก. มีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มช.ควบคุมการก่อสร้าง แล้วเสร็จราวๆปี 2551 ใช้งบกว่า 465 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเเละสิ่งแวดล้อม สนับสนุน ศักยภาพของโรงงานจัดการขยะได้ 300 ตันต่อวัน ใช้วิธีฝังกลบตามแผนงานเบื้องต้นนั้น ศูนย์แห่งนี้จะให้บริการประชาชนในการจัดการขยะมูลฝอยครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอคือ ดอยสะเก็ด, สันทราย ,สันกำแพง และแม่ออน ในการบริหารจัดการ มีปัญหาด้านมวลชน แต่ปรากฎว่าพอขนขยะเข้าพื้นที่มีเสียงคัดค้านต่อต้านจากชาวบ้าน ชุมชนใกล้เคียงมาโดยตลอด
ส่งผลให้โครงการฯไม่อาจบรรลุเป้าประสงค์ ต้องพึ่งพาการจัดการขยะ แบบฝังกลบ จากการจ้างเหมาเอกชนไปฝังกลบในสถานที่ต่างๆ ซึ่งปริมาณขยะใน จ.เชียงใหม่ นั้น มีขยะกว่า 6 แสนตันต่อปี หรือกว่า 1,718 ตันต่อวัน ในบรรดา 211 อปท. มีบริการจัดเก็บขยะเพียง 149 แห่ง และการจัดการขยะ ไม่เป็นไปตามกรอบแนวทางที่กำหนดไว้