นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้วางแนวทางพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ผลักดันและขับเคลื่อนบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจเพื่อการปฏิรูปภาคการเกษตรตามนโยบายของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ จะได้ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจเพื่อการปฏิรูปภาคการเกษตร โดยประกาศเขตเหมาะสมต่อการปลูกพืช ปศุสัตว์ และประมง รวม 20 สินค้า (พืช 13 ชนิด และปศุสัตว์ 5 ชนิด และประมง 2 ชนิด) แต่อย่างไรก็ตาม เกษตรกรไทยยังคงประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความเหลื่อมล้ำมาโดยตลอด ซึ่งเป็นเพราะยังขาดการบริหารจัดการที่เชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่การผลิตของเขตเกษตรเศรษฐกิจ ขาดมาตรการจูงใจของเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ จึงได้มอบหมายให้ สศก. ศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษ โดย สศก.ได้เสนอโครงการศึกษาวิจัย “การศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษ” (Special Agricultural Economic Zone : SAEZ) ซึ่งจะเน้นการพัฒนาในเชิงพื้นที่ ทำให้สามารถลงลึกในรายละเอียดได้รวดเร็วกว่าการดำเนินงานปกติหรือการพัฒนาในเชิงภาพรวม นำไปสู่การให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษ และเกิดการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดย สศก.จะดำเนินการศึกษาวิจัยร่วมกับทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รวมไปถึงการขอรับสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) ที่เป็นหน่วยงานเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการและการต่อยอดงานวิจัยร่วมกัน
สำหรับแนวทางในการศึกษา สศก.จะศึกษาตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยใช้โมเดลต้นแบบจากพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor : EEC ในการศึกษาและจัดทำโมเดลต้นแบบการพัฒนาเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษในพื้นที่และสินค้าที่สำคัญ โดยจะมีการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน การบริหารจัดการแรงงาน และการให้บริการจุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จ หรือ One Stop Service
นอกจากนี้ สศก.จะศึกษาถึงความเป็นไปได้ทางด้านการเงินและด้านเศรษฐศาสตร์อีกด้วย ซึ่งเบื้องต้นจะกำหนดเป้าหมายสินค้าเกษตรเศรษฐกิจ อาทิ ข้าว ยางพารา และ มันสำปะหลัง ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มศึกษาสินค้าข้าว อย่างข้าวหอมมะลิ เป็นชนิดแรก ในพื้นที่แหล่งผลิตสำคัญภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะเป็นสินค้าเกษตรเศรษฐกิจที่สร้างรายได้หลักให้ประเทศ มีคุณภาพ มีชื่อเสียง และมูลค่าการส่งออกสูง ส่งผลต่อรายได้เกษตรกรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจำนวนมาก
“หากพิจารณาสถานการณ์การค้าของประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559 – 2563) จะเห็นได้ว่า ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดไปยังตลาดโลก เฉลี่ยปีละ 7 – 8 ล้านล้านบาท โดยเป็นมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ เฉลี่ยปีละ 6.5 – 7.5 แสนล้านบาท โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรสำคัญในเขตเกษตรเศรษฐกิจ เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และ ผลไม้ ดังนั้น เชื่อมั่นว่า โครงการ SAEZ จะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาภาคการเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิต ช่วยสร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร ส่งเสริมผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ก้าวสู่เกษตรรอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยขณะนี้โครงการดังกล่าว อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ สวก. ในการสนับสนุนทุนวิจัย และคาดว่า จะสามารถเริ่มดำเนินการโครงการได้ในเร็วๆ นี้” เลขาธิการ สศก. กล่าว
นางสาวสุกัลยา กาเซ็ม ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมสร้างนวัตกรรมด้านวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวเสริมว่า การศึกษาวิจัยดังกล่าว จะวางกลยุทธ์แนวคิดองค์ประกอบหลัก “9 P” ได้แก่ problem การสังเคราะห์ปัญหาเพื่อตอบโจทย์ place พื้นที่ที่เหมาะสมในการกำหนดโมเดลต้นแบบ product สินค้าเกษตรที่จะขับเคลื่อนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ premium value การสร้างมูลค่าและสร้างรายได้เป็นพิเศษ proximity value
ปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบให้เกิดการรวมกันเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น ทรัพยากรต่างๆ privilege สิทธิพิเศษที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะได้รับ preemptive right สิทธิของคนที่อยู่เดิมในพื้นที่ต้นแบบจะได้รับ public-private-people partnership การสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน และ policy นโยบาย มาตรการ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถขับเคลื่อนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษเกิดขึ้นได้จริง โดยปัจจุบันมีการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ 2 แบบ คือ เขตเกษตรเศรษฐกิจรายสินค้า ตามเป้าหมายของการผลิต พื้นที่ที่มีศักยภาพ แบบรายอำเภอ และตำบลตามพื้นที่ปลูกจริง จากข้อมูลดาวเทียมและการสำรวจภาคสนาม การกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจตามศักยภาพการผลิตของพื้นที่