นายขจรชัย ผดุงศุภไลย รองอธอบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวถึงภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในช่วง 10 เดือนของปี 2559 ว่า กลุ่มน้ำมันเบนซิน เพิ่มขึ้น 10.41% และ ดีเซล เพิ่มขึ้น 3.69% ส่วน LPG ลดลง 9.68% และ NGV ลดลง 8.89% เมื่อเปรียบเทียบการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินในช่วง 10 เดือนของปี 2559 กับช่วงเดียวกันของปี 2558 พบว่าการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.41% เฉลี่ยอยู่ที่ 28.78 ล้านลิตร/วัน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของน้ำมันกลุ่มเบนซินเกือบทุกชนิดยกเว้นน้ำมันเบนซินเนื่องจากปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นเป็นผลจากราคาขายปลีกน้ำมันที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปรับตัวลดลงเฉลี่ย 3 – 5 บาท/ลิตร ตามราคาตลาดโลก จึงส่งผลให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในการเดินทางเพิ่มมากขึ้น
การใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วในช่วง 10 เดือนของปี 2559 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.69% เฉลี่ยอยู่ที่ 60.01 ล้านลิตร/วัน เนื่องจากปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นเป็นผลจากราคาขายปลีกน้ำมันที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปรับตัวลดลง 2.08 บาท/ลิตร ประกอบกับปริมาณรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงมีปริมาณเพิ่มขึ้น 4.46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
การใช้ LPG ในช่วง 10 เดือนของปี 2559 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.68% เฉลี่ยอยู่ที่ 16.32 ล้าน กก./วัน โดยเป็นการลดลงของการใช้ภาคขนส่งและภาคปิโตรเคมี โดยภาคปิโตรเคมี ลดลง 17.13% เฉลี่ยอยู่ที่ 4.91 ล้าน กก./วัน ภาคขนส่ง ลดลง 15.96% เฉลี่ยอยู่ที่ 4.03 ล้าน กก./วัน ส่วนภาคครัวเรือนไม่เปลี่ยนแปลง เฉลี่ยอยู่ที่ 5.72 ล้าน กก./วัน และภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 1.90% เฉลี่ยอยู่ที่ 1.66 ล้าน กก./วัน สำหรับการนำเข้า LPG ในช่วง 10 เดือนของปี 2559 ลดลง 58.58% เฉลี่ยอยู่ที่ 43 ล้าน กก./เดือน
การใช้ LPG ลดลงเนื่องจากความต้องการใช้ในภาคปิโตรเคมีที่ลดลงจากการเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นแทน และเนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลงจึงทำให้ประชาชนหันไปใช้น้ำมันแทน LPG ในภาคขนส่งส่วนการนำเข้า LPG ลดลงเนื่องจากการผลิต LPG ในประเทศมีเพียงพอต่อความต้องการใช้จึงไม่จำเป็นต้องนำเข้าในปริมาณสูงเช่นเดียวกับปีก่อน
การใช้ NGV ในช่วง 10 เดือนของปี 2559 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.89% เฉลี่ยอยู่ที่ 7.76 ล้าน กก./วัน
การใช้ NGV ลดลงเนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลงส่งผลให้ประชาชนและรถบรรทุกสินค้าหันไปใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน
การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.50% เฉลี่ยอยู่ที่ 906,805 บาร์เรล/วัน เป็นผลจากการนำเข้าน้ำมันดิบลดลง 4.28% เฉลี่ยอยู่ที่ 843,499 บาร์เรล/วัน คิดเป็นมูลค่า 38,883 ล้านบาท/เดือน
ส่วนการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น 8.30% เฉลี่ยอยู่ที่ 63,306 บาร์เรล/วัน มูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป เพิ่ มขึ้น 7.00% คิดเป็นมูลค่า 3,406 ล้านบาท/เดือน