นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมรองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสุรเดช สมิเปรม นายสัตวแพทย์เศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และนายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล และผู้อำนวยการกอง/สำนัก และเจ้าหน้าที่ร่วมกันทำพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกรมปศุสัตว์ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากรมปศุสัตว์ครบรอบ 79 ปี
ในการนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งสารร่วมแสดงความยืนดี โดยมีใจความสำคัญว่า กรมปศุสัตว์ เป็นหน่วยงานสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนางานด้านปศุสัตว์ให้มีความเจริญก้าวหน้า มีประสิทธิภาพได้มาตรฐานและปลอดภัยสำหรับการบริโภคทั้งภายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ จึงถือว่าเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ดร.เฉลิมชัย ระบุอีกว่า ในปี 2564 นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแนวทางการขับเคลื่อนที่สามารถนำไปต่อยอดได้ คือ การส่งเสริมสินค้าเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ที่มีมาตรการ ลด ละเลิกการใช้สารเคมี การใช้ระบบการตลาดนำการผลิต เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าล้นตลาดและราคาตกต่ำ การลดต้นทุน การผลิตและเพิ่มคุณภาพการผลิต การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้เกษตรกร โดยส่งเสริมรายได้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร การตั้งศูนย์เทคโนโลยีทางการเกษตร ทั้ง 77 จังหวัด ทั่วประเทศ เพื่อจัดทำข้อมูลสารสนเทศด้านการเกษตร Big Data) เป็นต้นเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาด การพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน การสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรเกษตรกรสามารถนำความรู้ไปพัฒนาอาชีพ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการดำเนินงานของกรมปศุสัตว์นั้น ล้วนเป็นการตอบสนองนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ด้าน นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า การส่งเสริมและพัฒนางานด้านปศุสัตว์ให้มีความเจริญก้าวหน้ามีประสิทธิภาพได้มาตรฐานและปลอดภัยสำหรับการบริโภคทั้งภายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ ถือเป็นบทบาทสำคัญของกรมปศุสัตว์ ดั่งวิสัยทัศน์ที่ว่า เป็นองค์การที่นำและขับเคลื่อนการปศุสัตว์ไทย สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในตลาดโลก
“ ในปี 2564นี้ กรมปศุสัตว์ มีแนวทางการขับเคลื่อนที่สามารถนำไปต่อยอดได้ทั้งด้านการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสัตว์ให้แก่เกษตรกร ทั้งด้านการป้องกันและควบคุมโรค การสร้างมาตรฐานการผลิตปศุสัตว์เพื่อความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคและสร้างมาตรฐานการส่งออกให้เป็นไปตามสากล นอกจากนี้ยังมีการใช้ระบบการตลาดนำการผลิต เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าล้นตลาดและราคาตกต่ำ การลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณภาพการผลิต การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้เกษตรกร โดยส่งเสริมรายได้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาด การพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน การสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรเกษตรกรสามารถนำความรู้ไปพัฒนาอาชีพ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวในที่สุด