นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการจ้างแรงงานชลประทาน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ประจําปีงบประมาณ 2564 เป้าหมายจ้างแรงงาน 94,000 คน วงเงินจ้างแรงงาน 5,662.33 ล้านบาท ระยะเวลาการจ้างแรงงานอยู่ระหว่าง 3 – 8 เดือน ปัจจุบันจ้างแรงงานแล้ว 63,088 คน คิดเป็น 67.11% วงเงินจ้างแรงงานวงเงินจ้างแรงงาน 1,745.22 ล้านบาท คิดเป็น 30.82 % ของวงเงินงบประมาณของโครงการ วงเงินจ้าง แรงงานอยู่ระหว่าง 22,000 – 60,000 บาท/คน
ทั้งนี้ โครงการจ้างแรงงานของกรมชลประทาน ไม่สามารถจ้างงานได้ตามเป้าหมาย และยังจ้างงานปริมาณต่ำกว่าปี 2563 โดยปี 2563 มีการจ้างงาน 91,159 คน สูงกว่าเป้าหมาย 3% จากเป้าหมายที่วางไว้ที่จำนวน 88,838 คน แม้จะสามารถจ้างงานได้สูงกว่าเป้า แต่งบประมาณจ้าง อยู่ที่ 2,713 ล้านบาทหรือ 60% ของงบประมาณที่ตั้งไว้ 4,498 ล้านบาท
ปีนี้จำนวนเกษตรกร ที่เข้ามาสมัครเข้าร่วมโครงการจ้างงานเกษตรกร เพื่อทำหน้าที่ซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุง งานชลประทาน โครงการส่งเสริมการดำเนินงานอันเนื่องจากพระราชดำริ งานก่อสร้างแหล่งน้ำ และระบบน้ำเพื่อชุมชน แก้มลิง และการจัดการคุณภาพน้ำ มีจำนวนน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะในภาคกลาง ซึ่งอาจเกิดจากเกษตรกรกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 จึงไม่สมัครร่วมทำงานกับกรมชลประทาน
“อยากให้เกษตรกรที่ตกงาน หรือ ถูกเลิกจ้าง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ที่ต้องกลับภูมิลำเนา ลองมาร่วมทำงานกับกรมชลประทาน ซึ่งในแต่ละสำนักงานกรมชลประทานที่ตั้งอยู่ทั่วประเทศ จะมีรายได้ แบ่งเบาภาระของครอบครัวได้ เพราะสัญญาจ้างของกรมชลประทาน มีระยะเวลา 3-8 เดือน ที่ผ่านมามีรายได้เฉลี่ยคนละ 27,663 บาท ซึ่งถือว่าไม่น้อย ส่วนการทำงานของกรมชลประทานก็คำนึงถึงมาตรการทางสาธารณสุข เพื่อความปลอดภัยของเกษตรกร”
นายประพิศ กล่าวว่า สำหรับผลการจ้างแรงงานมากที่สุด 3 ลำดับ ได้แก่ 1.จังหวัดอุบลราชธานีจำนวน 4,673 คน วงเงินจ้างแรงงาน 176.49 ล้านบาท 2. จังหวัดสกลนคร จำนวน 3,635 คน วงเงินจ้างแรงงาน 103.90 ล้านบาท และ 3. จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 3,625 คน วงเงินจ้างแรงงาน 114.42 ล้านบาท