ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนเมษายน 2564 ตามรายงานของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) อยู่ที่ 100.48 เพิ่มขึ้น 3.41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในรอบ 14 เดือน และขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 ปี 4 เดือน เป็นผลจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงราคาอาหารสดเช่น หมูและผักสดที่ปรับตัวขึ้นจากผลผลิตที่ลดลง
นายรัฐพล ศรีเจริญ นักวิชาการด้านปศุสัตว์ ชี้ให้เห็นความจริงในส่วนของ “หมู” ที่บางคนมองว่าราคาขยับขึ้นนั้น ต้องทำความเข้าใจก่อน เพราะอันที่จริงแล้ว ชาวหมูนั้นทำเพื่อผู้บริโภคมาตลอด ย้อนกลับไปตั้งแต่เมื่อต้นปี 2563 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติในฐานะตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศ ได้ร่วมหารือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือดูแลค่าครองชีพของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะการวางแผนการผลิตหมูทั้งระบบ ป้องกันปัญหาขาดแคลนหมู อย่างที่ประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชียและอาเซียน ทั้งจีน เวียดนาม รัสเซีย กัมพูชา มาเลเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อินเดีย ลาว และเมียนมา ที่กำลังประสบปัญหาโรค ASF ที่ระบาดอย่างหนัก กระทบกับปริมาณหมูที่ลดลง ราคาหมูจึงปรับขึ้น
สมาคมหมูกับกระทรวงพาณิชย์ จึงตัดสินใจ “ทำสัญญาลูกผู้ชาย” เพื่อร่วมกันดูแลราคาหมูไว้ล่วงหน้า โดยขอให้ยืนหยัดราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มไม่ให้เกินกว่า 80 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อให้ราคาเนื้อหมูขายปลีกหน้าเขียงไม่เกิน 150-160 บาทต่อกิโลกรัม ไม่ให้กระทบกับค่าครองชีพของผู้บริโภค ที่สำคัญการหารือครั้งนั้นเกิดขึ้นก่อนที่ประเทศไทยจะโดนพิษโควิด-19 เล่นงาน วันนี้เกษตรกรทุกคนยังยืนราคาหมูไว้ตามสัญญา ไม่มีการขึ้นราคา ทั้งๆที่ไทยเป็นประเทศเดียวที่คงสถานะปลอดโรค ASF ไว้ได้นานกว่า 2 ปี จนถึงปัจจุบัน
นอกจากคนไทยจะไม่ขาดแคลนหมูเหมือนประเทศอื่นแล้ว ยังคงกินหมู “ราคาถูกที่สุดในอาเซียน” ขณะที่ประเทศดังกล่าวข้างต้น ราคาหมูมีชีวิตสูงกว่าไทยทั้งสิ้น เช่น ฟิลิปปินส์ราคากิโลกรัมละ 116 บาท จีน 110 บาท กัมพูชา 109 บาท เวียดนาม 103 บาท เมียนมา 94 บาท และ ลาว 93 บาท
สวนทางต้นทุนการเลี้ยงหมูไตรมาส 1/2564 ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ประมาณการไว้ว่าอยู่ที่ 77.49 บาทต่อกิโลกรัม หักลบแล้วเกษตรกรเหลือกำไรแค่กิโลกรัมละ 2.51 บาท และเมื่อมองอีกด้านจะเห็นทุกข์ของเกษตรกร ที่ต้องแบกรับต้นทุนจนอ่วม ทั้งวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่แพงขึ้น ทั้งกากถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รำและปลายข้าว รวมถึงความเข้มข้นในการจัดการระบบ Biosecurity ของฟาร์มเพื่อป้องกันโรค ASF ในระดับสูงสุด ที่ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนส่วนนี้มากกว่า 300 บาทต่อตัว และบางฟาร์มยังมีค่าใช้จ่ายจากการซื้อน้ำสะอาดมาใช้ในฟาร์มต่อเนื่องความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่ปริมาณหมูลดลงจากผลกระทบของภาวะร้อนแล้ง รวมถึงความเสียหายจากโรค PRRS เป็นเหตุให้ราคาหมูขยับ แต่ถึงอย่างไรราคาหมูมีชีวิตก็ไม่เกินกว่า 80 บาทต่อกิโลกรัมไปได้ แม้ว่ากลไกตลาดจะทำงานแล้วก็ตาม คนเลี้ยงหมูจึงไม่ควรตกเป็นจำเลยว่าเป็นต้นเหตุของราคาเนื้อหมูที่เพิ่มขึ้น ทั้งๆที่ทุกคนต่างระดมทุกสรรพกำลังในการป้องกัน ASF เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคปลายทางต้องเดือดร้อนเหมือนประเทศอื่น เกษตรกรยังต้องกัดฟันสู้ไม่ให้ล้มหายตายจากไปมากกว่านี้ เพื่อให้อุตสาหกรรมหมูไทยเดินหน้าต่อ และยืนหยัดปกป้องพี่น้องคนไทยต่อไป