สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดประชุมคณะกรรมการอํานวยการ สอวช. ครั้งที่ 3/2564 ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมี ศาสตราจารยพิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานการประชุม
การประชุมครั้งนี้มีการนำเสนอหลายประเด็นที่น่าสนใจทั้งการประเมินสถานภาพการลงทุนวิจัยและพัฒนาของประเทศ ปี 2563 – 2570 รวมถึงการรายงานผลการดำเนินงานของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.),หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ประจำปีงบประมาณ 2563 โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก ได้ชื่นชมการทำงานของทั้ง 3 หน่วยบริหารและจัดการทุน พร้อมให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับดำเนินงานว่า การพัฒนาด้านเศรษฐกิจไทยในระดับพื้นที่ ควรให้ความสำคัญกับพื้นที่ชายแดนด้วย โดยเฉพาะในฝั่งเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา ที่มีนักท่องเที่ยวข้ามพรมแดนมาท่องเที่ยวในประเทศจำนวนมาก และไม่เพียงแต่มาซื้อสินค้าเท่านั้น ยังเข้ามารับการรักษาพยาบาลด้วย ดังนั้นหากต้องคิดในเรื่องการพัฒนาระดับพื้นที่ พื้นที่ไหนที่จะเพิ่มมูลค่าให้ประเทศได้ ควรคิดถึงประเทศเพื่อนบ้านด้วย แต่ไม่ใช่การคิดแบบเอารัดเอาเปรียบเขา ให้ทำแบบช่วยเขาด้วย เพื่อให้ได้ประโยชน์ร่วมกัน ก็จะมีส่วนช่วยดึงสัดส่วนจีดีพีของเราขึ้นมาได้ พร้อมกันนี้ยังได้ให้แนวคิดการการทำงานกับ สอวช. ที่ต้องคิดแบบก้าวกระโดดเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่
“สอวช. ต้องเชื่อมั่น และเปลี่ยนกรอบความคิด (Mindset) ของคนไทยให้เชื่อมั่นว่าประเทศไทยเป็นชาติแห่งเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์ วิทยาการ ทั้งไฮเทค และมีเดียมเทคได้อย่างแน่นอน ต้องพยายามคิดว่าอะไรที่จะทำแบบบายพาส (Bypass) เป็นทางลัดได้ก็ให้เสนอมา ให้ทำมากขึ้น หากเราเดินตามคนอื่นอาจจะต้องห่างเป็นหมื่นก้าว แต่ถ้าใช้บายพาสอาจจะแค่ห้าพันก้าว เราไม่จำเป็นต้องตามคนอื่นทันทุกเรื่อง แต่มีบางเรื่องที่เราคิดว่าจะบายพาสให้ได้ ให้ไปทุ่มเทตรงนั้น อย่าทำอะไรเท่ากันหมด ต้องมีหนัก มีแรงในบางเรื่องที่จะบายพาส ส่วนต่อมาคือ ต้องกล้ากระโดดหรือก้าวกระโดดใหญ่ๆ (Take a giant step) อย่าคิดแต่ก้าวสั้นๆ แบบปลอดภัยหรือไม่เสี่ยงเท่านั้น แต่ให้ก้าวกระโดดใหญ่ๆ ไปเลย ถึงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก กล่าว
สำหรับการรายงานผลการประเมินสถานภาพการลงทุนวิจัยและพัฒนาของประเทศ ปี 2563 – 2570 ซึ่ง สอวช. ได้ประมวลจากข้อมูลแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจและการลงทุนซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 และตัวเลขค่าใช้จ่ายการวิจัยและพัฒนารวมจากผลสำรวจประจำปี 2562 ที่ สํานักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สอวช. ได้ร่วมกันดำเนินการสำรวจเป็นประจําทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในการกําหนดนโยบายและมาตรการสนับสนุนความสามารถในการทําการวิจัยและพัฒนา จากนั้นจะมีการดําเนินการจัดส่งข้อมูลให้สถาบันจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้ระหว่างประเทศ เช่น IMD
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ได้ให้ข้อมูลค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทยเทียบกับต่างประเทศ ระหว่างปี 2553 - 2562 พบว่า ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่มีการลงทุนวิจัยและพัฒนาต่อจีดีพีสูงในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่ยังห่างกับประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย เช่น เกาหลี ไต้หวัน ส่วนประเทศจีน เนื่องจากเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ มีการลงทุนกว่า 2.14% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี เมื่อคิดเป็นเม็ดเงินมีจำนวนเงินที่สูงมากเช่นกัน ในส่วนพัฒนาการด้านการลงทุนของประเทศไทย มีการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตามลำดับ และในปี 2560 ได้ผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในสัดส่วน 1% ของจีดีพี
“จากการสำรวจข้อมูลการวิจัยและพัฒนาและกิจกรรมนวัตกรรมล่าสุด ประจำปี 2562 ประเทศไทยมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) จํานวนทั้งสิ้น 193,072 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.14 ของจีดีพี แบ่งเป็นการลงทุนของภาคเอกชน 149,244 ล้านบาท และเป็นการลงทุนจากภาครัฐ 43,828 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนโดยประมาณร้อยละ 77 และร้อยละ 23 ตามลําดับ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญโดย 3 อุตสาหกรรมหลักที่มีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาสูงสุด ประกอบด้วย 1.อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในประเทศไทย มีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาสูงที่สุด อยู่ที่ 32,321 ล้านบาท 2.อุตสาหกรรมปิโตรเลียม มีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาอยู่ที่ 11,958 ล้านบาท 3.บริการด้านการเงินและประกันภัย มีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาอยู่ที่ 11,579 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้มีการลงทุนเยอะในช่วงหลัง เนื่องจากการเข้ามาของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเงิน หรือฟินเทค (FinTech) ทำให้ทุกบริษัทหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนเรื่องเทคโนโลยี Digital Banking Platform และการทำโมเดลธุรกิจใหม่ๆ” ดร. กิติพงค์ กล่าว
สำหรับจํานวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา ประจำปี 2562 พบว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 166,788 คน หรือคิดเป็น 25 คน ต่อประชากร 10,000 คน และตั้งเป้าหมายว่าในปี 2570 จะเพิ่มจำนวนให้ได้เป็น 40 คน ต่อประชากร 10,000 คน
ในส่วนของการคาดการณ์การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศปี 2563 - 2570 มีผลสืบเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 จากการประมาณการเดิมตั้งเป้าหมายการลงทุนไว้ที่ 2% ของจีดีพี ในปี 2570 แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของโรค ส่งผลกระทบต่อปัจจัยทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ รวมถึงงบประมาณของภาครัฐที่มีการปรับลดลง หากภาครัฐและเอกชนไม่มีการปรับตัว ตัวเลขการลงทุนในปี 2570 จะตกลงมาอยู่ที่ 1.46% ของจีดีพี ทาง สอวช. จึงอยู่ระหว่างหาแนวทางว่าจะรับมือ
ในส่วนนี้ได้อย่างไร โดยในเบื้องต้นคาดว่าต้องเข้าไปกระตุ้นภาคเอกชน โดยการให้แรงจูงใจหรือการเข้าไปส่งเสริมการลงทุนให้เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ สอวช. ได้เสนอตัวอย่างแนวทางการผลักดันเพื่อรักษาเป้าหมายการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ซึ่งสิ่งที่ดำเนินการอยู่ เช่น การสร้างให้เกิดระบบนิเวศนวัตกรรมสำหรับบริษัทฐานนวัตกรรม หรือ IDE (Innovation Driven Enterprise) โดยสนับสนุนทั้งด้านการเงิน ผ่าน Innovation Fund กองทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อสนับสนุนนวัตกรรมของ SMEs การจัดสรรทุนในลักษณะเอกชนร่วมทุน อาทิ บพข. และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมที่มีการร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการ สนับสนุนด้านการตลาด ผ่านบัญชีนวัตกรรมไทย ซึ่งเป็นกลไกส่งเสริมการลงทุนด้านนวัตกรรมผ่านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สนับสนุนเครือข่ายธุรกิจนวัตกรรม (Innovation Club) โดยการร่วมมือกันของผู้นำจากภาคเอกชน ภาครัฐและมหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนให้สตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรมสามารถขยายกิจการและก้าวไปสู่ธุรกิจระดับโลกได้
อีกหนึ่งส่วนที่ สอวช. เข้าไปดำเนินการในเชิงระบบ เพื่อจะช่วยรักษาเป้าหมายการลงทุนวิจัยและพัฒนาได้คือ การแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจนวัตกรรม (Ease of Doing Innovation Business) ให้เกิดกับภาคเอกชน อาทิ ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม การเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อส่งเสริมให้สตาร์ทอัพสามารถทำงานได้ ลงทุนได้ เช่น หุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Debt) การทยอยให้หุ้น (Vesting) สิทธิซื้อหุ้นของพนักงาน (Employee Stock Option Plan) และหุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Shares)
ส่วนหน่วยงานอื่นๆ ที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน เช่น การให้สิทธิประโยชน์และแรงจูงใจแก่บริษัทเอกชน โดย BOI หรือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน มาตรการยกเว้นภาษีนิติบุคคลเพื่อการวิจัยและนวัตกรรม 200% โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) การสนับสนุน SMEs ปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ Digital โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมเรื่องการยกระดับทักษะบุคลากร โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี จาก BOI และกรมสรรพากร เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีวาระสรุปผลการดำเนินงาน ประจำปี 2563 ของหน่วยบริหารและจัดการทุน โดยมีผลงานที่เห็นเป็นรูปธรรมแล้ว รวมถึงแผนงานที่เตรียมจะดำเนินการในหลายส่วน เช่น การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่ (Local Enterprises) บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่น เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ โดย บพท., ชุดโครงการส่งเสริมปัญญาประดิษฐ์เป็นฐานขับเคลื่อนประเทศในอนาคต (AI for All) การส่งเสริมการวิจัยขั้นแนวหน้า และการวิจัยพื้นฐานที่ประเทศไทยมีศักยภาพ อาทิ แผนงานสร้างโอกาสและความสามารถในการเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีควอนตัม โดย บพค., การวิจัยและพัฒนาเพื่อผลิตชุดตรวจ SARS CoV 2 ด้วยวิธี Real Time RT PCR (qPCR) เพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพ ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากสารสกัดแซน
โทนในเปลือกมังคุดอินทรีย์ด้วยเทคนิคโคมาโตกราฟีขั้นสูงในระดับอุตสาหกรรม การพัฒนายาชีววัตถุคล้ายคลึงสำหรับกรระตุ้นเม็ดเลือดขาว สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด (Biosimilar pegfilgrastim หรือ PEG-GCSF) ที่ผลิตในประเทศไทยตามาตรฐานยุโรปเพื่อใช้ในประเทศและส่งออก โดย บพข. เป็นต้น