กฟผ. เผยความคืบหน้าความร่วมมือกับ ปตท. ในโครงการ LNG Receiving Facilities รองรับการนำเข้าก๊าซ LNG สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ตามแผน PDP2018 Revision 1 พร้อมขานรับนโยบายการเป็น Regional LNG Hub ของรัฐบาล คาดเกิดการจ้างงานกระตุ้นเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในภาพรวมของประเทศ
นางราณี โฆษิตวานิช รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าความร่วมมือระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ กฟผ. ในโครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซสำหรับโรงไฟฟ้าภาคใต้ (LNG Receiving Facilities) ซึ่งเป็นโครงการที่ ปตท. และ กฟผ. ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 เพื่อศึกษาโอกาสการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน LNG Receiving Facilities สำหรับรับ เก็บ และแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลวในพื้นที่ภาคใต้ ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการ 3 ด้าน คือ 1) การศึกษาการลงทุนร่วมกันระหว่าง ปตท. และ กฟผ. 2) การศึกษาการพัฒนาโครงการ ประกอบด้วย ด้านวิศวกรรม (Front-End Engineering Design : FEED) การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) 3) การขอความเห็นชอบในการดำเนินโครงการฯ จากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่ง ปตท. และ กฟผ. จะดำเนินการนำเสนอโครงการฯ ต่อสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ภายในปี 2564
โดยโครงการ LNG Receiving Facilities เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติ ตอบสนองนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาลและกระทรวงพลังงาน ในการจัดหาเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าสุทธิ 1,400 เมกะวัตต์ เพื่อเสริมความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ตามแผน PDP2018 revision 1 รวมทั้งสนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวในภูมิภาคอาเซียน (Regional LNG Hub) ซึ่งการดำเนินโครงการฯ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงาน การลงทุนในท้องถิ่น และส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมการผลิตในภาพรวมของประเทศเพิ่มมากขึ้น