พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กทม.ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการพัฒนาระบบ "ไทยร่วมใจ กรุงเทพปลอดภัย" เพื่ออำนวยความสะดวกในการลงทะเบียนให้กับประชาชนที่จะไปรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ณ จุดบริการฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล 25 จุดทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งจะช่วยให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้นและเป็นไปตามเป้าหมายให้ได้วันละ 50,000 โดส
ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษก กทม. กล่าวว่า ระบบ "ไทยร่วมใจ กรุงเทพปลอดภัย" เป็นการลงทะเบียนฉีดวัคซีนป้องโรคโควิด-19 ในส่วนของแต่ละจังหวัด นอกเหนือจากการลงทะเบียนฉีดวัคซีนของกลุ่มผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี และกลุ่มเสี่ยง 7 โรคเรื้อรังของภาครัฐ โดยจะมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อน
โดยระบบ "ไทยร่วมใจ กรุงเทพปลอดภัย" จะเปิดให้ประชาชนอายุ 18-59 ปี ที่มีทะเบียนบ้านหรือประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค.64 เวลา 12.00 น.และเริ่มฉีดวัคซีนในวันที่ 7 มิ.ย.64 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถลงทะเบียนได้หลายช่องทาง ได้แก่ ผ่าน Call Center 1516, ผ่านเว็บไซต์ www.ไทยร่วมใจ.com, แอปพลิเคชั่น "เป๋าตัง", ร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน
อย่างไรก็ตาม การให้บริการฉีดวัคซีนยังเป็นไปตามแผนงานเดิมที่กำหนดไว้ โดย กทม.จะได้รับมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจากกระทรวงสาธารณสุขภายในวันที่ 7 มิ.ย.64
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ยืนยันว่า ผู้พัฒนาระบบลงทะเบียนครั้งนี้มีประสบการณ์ในการจัดทำระบบจองขนาด 20 ล้านคนภายในสองวันมาแล้ว เช่น โครงการคนละครึ่ง ทำให้มีความมั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาระบบล่มอย่างแน่นอน และการดำเนินการครั้งนี้จะช่วยเสริมการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข
สำหรับการพัฒนาระบบ "ไทยร่วมใจ กรุงเทพปลอดภัย" กทม.ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) , ธนาคารกรุงไทย (BTB) , บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด, เครือเจริญโภคภัณฑ์, กลุ่มเซ็นทรัล, บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์ เซนเตอร์ (BIGC) , สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) , บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) , บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC)