นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ทำให้ในหลายพื้นที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง อากาศที่เย็นลงและมีความชื้นอาจทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ จึงขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพและป้องกันตนเอง รวมทั้งดูแลสุขภาพของคนในครอบครัวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ
สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-24 พฤษภาคม 2564 พบผู้ป่วย 7,073 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยพบมากที่สุดในเด็กแรกเกิด-4 ปี รองลงมาคือ อายุ 25-34 ปี และ 15-24 ปี ตามลำดับ จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรก คือ อุบลราชธานี พิษณุโลก กระบี่ เชียงราย และน่าน ตามลำดับ จากข้อมูลในปีนี้พบว่าจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ลดลงจากปีที่ผ่านๆ มา เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ที่มีการติดต่อในลักษณะเดียวกัน ทำให้ประชาชนดูแลตนเองและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 อย่างเคร่งครัด โดยสวมหน้ากาก 100% ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง แยกของใช้ หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด และมาตรการองค์กร ซึ่งมาตรการป้องกันโรคดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนทุกคนปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องต่อไป
นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคไข้หวัดใหญ่ติดต่อจากการไอ จามรดกัน หรือจากการสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อโรค เช่น แก้วน้ำ ลูกบิดประตู เป็นต้น อาการของโรคจะคล้ายไข้หวัด แต่จะมีอาการปวดกล้ามเนื้อและปวดศีรษะ อ่อนเพลีย แต่สามารถหายเองได้ใน 5-7 วัน ดังนั้นหากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมงหรือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรรีบพบแพทย์ทันที ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนยึดหลัก “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์ ได้แก่ ปิด คือปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม โดยใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชูทุกครั้ง หากเจ็บป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ ควรใส่หน้ากากอนามัย ล้าง คือล้างมือบ่อยๆ เมื่อสัมผัสสิ่งของ เช่น ลูกบิด ราวบนรถโดยสาร เลี่ยง คือหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือในสถานที่ที่มีคนอยู่หนาแน่น และ หยุด คือเมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรม แม้ผู้ป่วยมีอาการไม่มาก ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ
สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในปีนี้ กรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยเริ่มรณรงค์ฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ถึง 31 สิงหาคม 2564 ในประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2.เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี 3.ผู้มีโรคเรื้อรัง (ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน) 4.บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 5.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6.โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) และ 7.โรคอ้วน (น้ำหนัก>100 กิโลกรัม หรือ BMI >35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) ขอให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เพื่อป้องกันอาการรุนแรงและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ ทั้งนี้ ขอให้ผู้ที่จะรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ปรึกษาแพทย์ในสถานพยาบาลที่จะรับการฉีดวัคซีนดังกล่าว เพื่อกำหนดช่วงเวลาในการฉีดวัคซีนในกรณีที่มีการลงทะเบียนฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ด้วย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน สปสช. โทร. 1330 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422