พล.ต.ยุทธชัย เทียรทอง ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 14 ได้นำคณะนายทหาร พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี เพื่อติดตามความคืบหน้าการจัดระเบียบตามนโยบายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้งการผลักดันพื้นที่เขตเศรษฐกิจ เกาะสีชัง ตามผลงานวิจัยของวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่ง พล.ต.สิงห์ทอง หมีทอง อดีตผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 14 ได้ร่วมกับนักวิจัยจากวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และเทศบาลตำบลเกาะสีชัง จัดทำขึ้นเพื่อผลักดันให้เกาะสีชัง เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่ของประเทศ
และที่ผ่านมา ได้มีการนำเสนอผลงานวิจัยถึงศักยภาพ ความพร้อม สิ่งที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมถึงประเทศจะได้รับจากการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะสีชัง รวมทั้งการสร้างรายได้กว่า 4 พันล้านบาท ให้เกิดขึ้นในพื้นที่จากการพัฒนาบริเวณเกาะสีชัง และหมู่เกาะโดยรอบให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะสร้างงาน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และการจำหน่ายสินค้าโอทอป รวมถึงสินค้าต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากศักยภาพของพื้นที่
ที่สำคัญยังจะทำให้จังหวัดชลบุรี เป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าทางทะเล และเส้นทางผ่านการเดินเรือขนส่งสินค้าในภูมิภาคอินโดจีนได้อย่างแท้จริง นอกจากนั้น ยังจะทำให้มีเรือสินค้าเข้ามาจอดทอดสมอเพื่อรอการขนถ่ายสินค้าส่งออก และนำเข้าได้ปีละกว่า 1.2 หมื่นลำ จากลักษณะทางกายภาพภูมิประเทศที่มีความพร้อมด้านลอจิสติกส์ทั้งน้ำ และทางบก รวมทั้งทางอากาศที่อยู่ไม่ไกลจากสนามบินอู่ตะเภา
โดยผลงานวิจัยดังกล่าว ได้นำเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี และเลขาธิการสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้พิจารณาถึงความเหมาะสม และความเป็นไปได้ต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเชื่อว่าผลงานวิจัยจากนักวิชาการที่เกิดขึ้นจะนำสู่การพัฒนาได้จริง ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน 20 ปี
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า ภาพรวมในทุกมิติของการพัฒนาพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาชุมชนตามมูลฐานความผิดผู้มีอิทธิพลมีจำนวนลดลง ทั้งในเรื่องของยาเสพติด แรงงานเถื่อน และประชาชนยังร่วมมือกับภาครัฐในการปฏิบัติตามกฎหมาย
ขณะที่เทศบาลตำบลเกาะสีชัง ที่มีหน้าที่แก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งขยะมลพิษลงทะเลของเรือบรรทุกสินค้า ซึ่งถือเป็นการทำลายห่วงโซ่อาหารนั้น ได้มีการแก้กฎกระทรวงในบางประเด็นเพื่อการปฏิบัติ แม้ปัจจุบันจะยังพบการขนถ่ายสินค้าที่ฟุ้งกระจาย ทั้งปูนซีเมนต์ แป้งมันสำปะหลัง และถ่านหิน ก็ตาม ส่วนการจัดทำทุ่นจอดเรือเพื่อควบคุมระเบียบเรือบรรทุกสินค้า บนเกาะขามใหญ่ และเกาะค้างคาว ให้เชื่อมโยงเกาะสีชัง เพื่อผลักดันให้เป็นศูนย์บริการท่องเที่ยวครบวงจร เชื่อมโยงเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งสินค้านำเข้า-ส่งออกประเภทเทกอง หรือเมืองลอจิสติกส์ทางทะเลนั้น ก็มีความคืบหน้าตามลำดับ