กรมชลประทาน เร่งให้การช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันความเสียหายของนาข้าว หลังพบหลายพื้นที่มีฝนตกน้อย ย้ำให้เกษตรกรเพาะปลูกเมื่อมีฝนตกอย่างสม่ำเสมอ ส่วนพื้นที่ใดที่ทำการเพาะปลูกไปแล้วจะจัดสรรน้ำให้ตามรอบเวร พร้อมเดินหน้าบริหารจัดการน้ำตามมาตรการที่ได้วางไว้อย่างเคร่งครัด ตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบัน (31 พ.ค. 64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 35,351 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯรวมกัน ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันประมาณ 40,717 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 8,376 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 34 ของความจุอ่างฯรวมกัน ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 16,495 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ช่วงระหว่างวันที่ 31 พ.ค.-3 มิ.ย.64 จะมีฝนตกน้อยลง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร กรมชลประทาน ได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการวางแผนช่วยเหลือพื้นที่ข้าวนาปีที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำจากภาวะฝนทิ้งช่วง ประกอบกับปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนต่างๆ ไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนให้พื้นที่การเกษตรได้อย่างเต็มศักยภาพ จึงจำเป็นต้องทำการจัดสรรน้ำตามรอบเวรให้กับพื้นที่การเกษตรโดยเฉพาะข้าวนาปีที่ทำการเพาะปลูกไปแล้ว เพื่อไม่ให้ผลผลิตได้รับความเสียหาย สำหรับเกษตรกรที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูก ขอให้ชะลอการเพาะปลูกออกไปก่อน จนกว่าจะมีฝนตกชุกในพื้นที่สม่ำเสมอและมีน้ำเพียงพอ
นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ บริหารจัดการน้ำตามมาตรการที่วางไว้ ตามนโยบายของรัฐบาล โดยดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วยการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอตลอดทั้งปี วางแผนการปลูกพืชโดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก เน้นย้ำบริหารจัดการน้ำท่าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งเก็บกักน้ำให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ควบคู่ไปกับการวางแผนป้องกันและบรรเทาอุทกภัย การกำหนดพื้นที่เสี่ยง กำหนดเจ้าหน้าที่ กำหนดเครื่องจักร เครื่องมือ เข้าไปประจำไว้ในพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที และมอบหมายเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา หากประชาชนหรือหน่วยงานใดมีต้องการความช่วยเหลือสามารถโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา