ที่บ้านบ่อสวก ม.1 ต.บ่อสวก อ.เมืองน่าน จ.น่าน โดยมี นายสัตวแพทย์อนุสรณ์ หอมขจร ปศุสัตว์จังหวัดน่าน พร้อมด้วย นายวรพล รุ่งสิทธิมงคล หัวหน้าด่านกักกันสัตว์น่าน เจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจด่านกักกันสัตว์น่าน ร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์อำเภอเมืองน่าน ดำเนินการพ่นน้ำยากำจัดแมลงพาหะ และให้คำแนะนำในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคลัมปี สกิน (Lumpy Skin Disease : LSD) ให้แก่เกษตรกรจำนวน 18 ราย โคจำนวน 81 ตัว กระบือจำนวน 16 ตัว ในพื้นที่บ้านบ่อสวก ม.1 ต.บ่อสวก อ.เมืองน่าน จ.น่าน
โดย นายสัตวแพทย์อนุสรณ์ หอมขจร ปศุสัตว์จังหวัดน่าน เปิดเผยว่า โรคที่ระบาดในสัตว์โค กระบือ ขณะนี้คือ โรคลัมปีสกิน เป็นโรคที่อุบัติใหม่ที่เข้ามาในบ้านเรา บ้านเราไม่เคยมีโรคนี้มาก่อน เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ลักษณะอาการของโรคจะเกิดตุ่มตามผิวหนัง กระจายลุกลามอย่างรวดเร็ว ต่อมาจะมีไข้ กินอาหารได้น้อย หากพ้นระยะนี้ไปตุ่มหนองจะแตกทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นแผลเรื้อรัง อัตราการป่วยอยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ อัตราการตายไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ สัตว์เลี้ยงจะทนทุกข์ทรมาน โรคนี้จะมีพาหะนำโรคคือแมลงดูดเลือด เช่น ริ้น หมัด ไร เห็บ ยุง เมื่อแมลงเหล่านี้ไปกัดสัตว์เลี้ยงที่เป็นโรคอยู่แล้ว และบินไปกัดสัตว์ตัวอื่น ซึ่งรัศมีการบินของสัตว์หรือแมลงบางชนิดอาจมีรัศมีบินไกลถึง 50 กิโลเมตร เพราะฉะนั้นต้องระมัดระวังโรคในระยะรัศมี 50 กิโลเมตร
นายสัตวแพทย์อนุสรณ์ หอมขจร ปศุสัตว์จังหวัดน่าน กล่าวว่า โรคลัมปีสกินจะไม่ติดถึงคน ติดต่อเฉพาะสัตว์กับสัตว์ สัตว์ที่ไวต่อการติดเชื้อคือโค ส่วนกระบือ มีเป็นส่วนน้อย ข้อควรระวังคือไม่ควรนำสัตว์เป็นโรคเข้าโรงฆ่า ตอนนี้กรมปศุสัตว์มีหนังสือสั่งการมาห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ที่เป็นโรคข้ามจังหวัด และห้ามนำสัตว์เข้าโรงฆ่าสัตว์ ขอให้เกษตกรผู้เลี้ยงโค กระบือ ดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยง ตลอดถึงดูแลความสะอาดสิ่งแวดล้อมในโรงเลี้ยงสัตว์ในระยะนี้เอาไว้ด้วย
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้กำหนดมาตรการควบคุมโรคดังนี้ คือ ข้อที่ 1. ควบคุมการเคลื่อนย้ายโค กระบือ เป็นมาตรการที่สำคัญที่สุดเพื่อลดการแพร่กระจายของโรค กรณีมีความจำเป็นให้ปฏิบัติตามตามแนวทางการเคลื่อนย้ายที่กรมปศุสัตว์กำหนดอย่างเคร่งครัด 2. เฝ้าระวังการเกิดโรคอย่างใกล้ชิด เน้นการรู้โรคให้เร็ว ควบคุมได้ทัน โรคสงบได้อย่างรวดเร็ว 3. ป้องกัน และควบคุมแมลงพาหะนำโรค เนื่องจากเป็นโรคที่มีแมลงเป็นพาหะนำโรค จึงขอให้เกษตรกรป้องกัน โดยใช้สารกำจัดแมลงทั้งบนตัวสัตว์ และบริเวณโดยรอบฟาร์ม ทั้งในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคและในพื้นที่เสี่ยง 4. รักษาสัตว์ป่วยตามอาการ เพื่อลดความสูญเสียแก่เกษตรกร เนื่องจากเป็นโรคที่เกิตจากเชื้อไวรัสไม่มียาที่ใช้ในการ รักษาโดยตรง ซึ่งจำเป็นต้องรักษาตามอาการโดยแบ่งการรักษาเป็น 4 ระยะ ระยะที่ 1 สัตว์ป่วยแสดงอาการมีใข้ให้ดำเนินการให้ยาลต์ไข้ ระยะที่ 2 เริ่มแสดงอาการตุ่มบนผิวหนัง ให้ยาลดการอักเสบ ระยะที่ 3 ตุ่มบนผิวหนังมีการแตก หลุดลอก ให้ยารักษาแผลที่ผิวหนังร่วมกับ ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคที่เรียแทรกซ้อน ระยะที่ 4 แผลที่ผิวหนังตกสะเก็ด ใช้ยารักษาแผลภายนอกจนกว่าจะหายดี ส่วนการใช้วัคซีนควบคุมโรค เนื่องจากโรคลัมปีสกิน เป็นโรคอุบัติใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย จึงยังไม่เคยมีการใช้วัคซีนในสัตว์สำหรับควบคุมและป้องกันโรคในประเทศมาก่อน ซึ่งการใช้วัคซีนมีความจำป็นต้องใช้อย่างระมัดระวัง และติดตามผล หลังการใช้อย่างใกล้ชิด