นายนพดล ศรีพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 นครสวรรค์ (สศท.12) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลติดตามการดำเนินโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์(โครงการแปลงใหญ่ ปี 2559-2561) ของกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี2560 ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูก 1,961 ไร่ มีสมาชิกเกษตรกร 78 ราย ส่วนใหญ่เป็นการปลูกข้าวโพดหลังนาหรือข้าวโพดฤดูแล้งเนื่องจากใช้ปริมาณน้ำน้อยกว่าการทำข้าวนาปรัง ซึ่งจากการเข้าร่วมโครงการทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพผลผลิต และเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางตลาดได้
จากการติดตาม พบว่า ก่อนเข้าร่วมโครงการเกษตรกรมีเงินทุนไม่เพียงพอ เมื่อต้องใช้ปุ๋ย สารชีวภัณฑ์ หรือน้ำมันสำหรับเครื่องสูบน้ำ ส่งผลให้ต้นข้าวโพดเจริญเติบโตไม่ดีเท่าที่ควรทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำซึ่งหลังจากเข้าร่วมโครงการ เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ถึงร้อยละ14 เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนเข้าโครงการ เกษตรกรมีองค์ความรู้ในการดูแลข้าวโพดที่ได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานมากขึ้น มีความรู้ด้านการใช้ปุ๋ย การปรับปรุงบำรุงดิน เกษตรกรปรับการใช้ปุ๋ยและสารเคมีให้เหมาะสม และในส่วนของปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 เนื่องจากเกษตรกรมีการดูแลรักษาที่ดี รวมไปถึงสามารถรับมือกับหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดได้ดีมากขึ้น
ด้านภาพรวมเกษตรกรมีความพึงพอใจต่อการเข้าร่วมโครงการอยู่ในระดับมากที่สุด ทั้งการส่งเสริมสนับสนุนของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรในพื้นที่เข้ามาดูแล ติดตามและส่งเสริมเป็นอย่างดี ด้านการบริหารจัดการกลุ่มและการบริหารจัดการของผู้จัดการแปลง สมาชิกเห็นว่ามีผู้นำที่ดีส่งผลให้การขับเคลื่อนโครงการดำเนินการได้เป็นอย่างดี ส่วนการเชื่อมโยงตลาดเกษตรกรพอใจอยู่ในระดับมากเนื่องจากเห็นว่าราคาขายยังอยู่ในเกณฑ์ดี
สำหรับสถานการณ์การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีเพาะปลูก 2563/64 ซึ่งเพาะปลูกระหว่างเดือนพฤศจิกายน ? เมษายน ของกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พบว่า ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย5,757บาท/ไร่/รอบการผลิต ระยะเวลาเพาะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 120 วัน เก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ผลผลิตเฉลี่ย 982 กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิตเกษตรกรมีผลตอบแทนเฉลี่ย 7,630บาท/ไร่/รอบการผลิต ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 1,873 บาท/ไร่/รอบการผลิตราคาที่เกษตรกรขายได้เดือนมีนาคม ? เมษายน 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 7.92 บาท/กิโลกรัม สำหรับด้านการตลาด ผลผลิตทั้งหมดของกลุ่ม เกษตรกรจะจำหน่ายให้กับพ่อค้าในพื้นที่ และสหกรณ์การเกษตรศาลเจ้าไก่ต่อ อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์
ผลสำเร็จของกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ เป็นตัวอย่างของการรวมกลุ่ม โดยเกษตรกรได้หันมาใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ใช้น้ำหมักชีวภาพ ส่งผลให้สภาพดินดีขึ้น ช่วยให้ต้นทุนลดลงและผลผลิตเพิ่มขึ้น ในส่วนของการบริหารจัดการ คณะกรรมการกลุ่มและสมาชิกมีการประชุมวางแผนการผลิต ซื้อปัจจัยการผลิตร่วมกัน ทำให้สามารถซื้อได้ในราคาถูกลง ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างมั่นคง