นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับมอบหมาย จากที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ให้เป็นเจ้าภาพหลักขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในสถานประกอบกิจการโรงงาน ด้วยการประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมือโรงงานกว่า 60,000 โรงทั่วประเทศ ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในสถานประกอบกิจการโรงงาน (Good Factory Practice : GFP) ของสาธารณสุข โดยประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ Thai Stop Covid Plus ทุกสองสัปดาห์ และให้พนักงานประเมินด้วย Thai Save Thai ก่อนเข้าปฏิบัติงาน ตั้งเป้าให้โรงงานทุกแห่งดำเนินการภายใน 30 มิถุนายนนี้ !
“ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนในแรงงานภาคอุตสาหกรรมทำให้ต้องหยุดประกอบกิจการส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบกิจการโรงงาน และเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ ซึ่ง ศบค.ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นเจ้าภาพในการควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการโรงงาน ผมจึงสั่งการเร่งด่วนให้ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และอุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัด แจ้งขอความร่วมมือสถานประกอบการ ดำเนินการประเมินตนเองตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข โดยใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาขึ้น ได้แก่ Thai Stop Covid Plus ซึ่งเป็นข้อแนะนำทางด้านสาธารณสุข ในการป้องกันการแพร่ระบาดฯ ประกอบด้วย มาตรการ/แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการ ผู้ปฏิบัติงาน และแนวทางการปฏิบัติกรณีพบผู้ติดเชื้อ ซึ่งผู้ประกอบการต้องประเมินตนเองอย่างน้อยทุก 2 สัปดาห์ ในส่วนของพนักงานทุกคน ต้องประเมินตนเอง โดยใช้แพลตฟอร์ม Thai Save Thai ซึ่งยกระดับ การคัดกรองคนก่อนเข้าโรงงานอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันผู้มีความเสี่ยงไม่ให้เข้ามาปฏิบัติงานและแพร่เชื้อ ในสถานประกอบการ รวมทั้งการสนับสนุนให้พนักงาน สมัครใจเข้าร่วมโครงการ “ก้าวท้าใจ” ด้วยการออกกำลังกาย ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้สุขภาพแข็งแรงและมีภูมิต้านทานโรค
โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดแจ้งไปยังผู้ประกอบการ และให้หน่วยงานในสังกัดทั้งสามติดตามการดำเนินการของสถานประกอบการ ซึ่งตั้งเป้าหมายสำหรับโรงงานขนาดใหญ่ คนงานตั้งแต่200 คนขึ้นไป (จำนวน 3,304 โรง) ต้องทำการประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop Covid Plus และ Thai Save Thai ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2564 และโรงงานทั้งหมด (ประมาณ 64,000 โรง) ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ซึ่งขณะนี้มีโรงงานเข้าสู่ระบบทำการประเมินแล้วประมาณร้อยละ 20 เท่านั้น หากโรงงานใดไม่ให้ความร่วมมืออาจจะมีการพิจารณาบทลงโทษต่อไป ซึ่งอยู่ระหว่างประชุมหารือ” นายกอบชัย กล่าวด้าน นายเดชา จาตุธนานันนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้าศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤต กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบดังกล่าวจะเป็นเช็กลิสต์ข้อแนะนำออนไลน์เพื่อให้ผู้ประกอบการและพนักงานทุกคนประเมินและจัดการความเสี่ยง โรงงานจะได้เรียนรู้วิธีการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม และมาตรการเสริมอื่น ๆ รวมทั้งข้อแนะนำหากพบผู้ติดเชื้อต้องทำอย่างไร ตลอดจนคำแนะนำในการกักตัว เพื่อทำให้ทราบว่ามาตรการที่ดำเนินการอยู่ของแต่ละโรงงาน ผ่านหรือไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของสาธารณสุข ประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับ คือการปรับตัวสู่การทำงานวิถีใหม่ (New Normal) เพื่อให้โรงงาน ปลอดโควิด พนักงานปลอดภัย ขณะที่ภาครัฐเองก็มีข้อมูลในการกำกับดูแล (Monitor) ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จะแลกเปลี่ยนข้อมูลและใช้ประโยชน์ในข้อมูลร่วมกัน ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงแรงงาน
ทั้งนี้ โรงงานที่ประเมินผ่านแฟลตฟอร์ม Thai Stop Covid Plus แล้ว มีคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดจะมี ทีมตรวจประเมินของรัฐเข้าไปช่วยเหลือ โดยกระทรวงฯ จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เช่น จังหวัด สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด และสาธารณสุขจังหวัด ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม เพื่อสนับสนุนโรงงานให้ผ่านเกณฑ์ฯ ต่อไป อย่างไรก็ตามหากพบพนักงานติดเชื้อโรงงานจะต้องดำเนินการตรวจหาเชื้อเชิงรุก แยกผู้ติดเชื้อไปรักษาและผู้ใกล้ชิด ต้องกักตัว และหากโรงงานใดพบมีการติดเชื้อมากกว่า 10% จะคงยังใช้หลักการ Bubble & Seal (โรงงานจัดหาที่พักให้อยู่ในสถานที่ที่กำหนด และให้โรงงานจัดหาที่พักให้พนักงานอยู่ภายในโรงงาน เพื่อสามารถควบคุมโรคจนกว่าสถานการณ์ การติดเชื้อกลับสู่ปกติ) และสั่งปิดโรงงานเพื่อควบคุมเชื้อโควิด-19 ไม่ให้ออกสู่สังคมภายนอก เช่นเดียวกับเคสที่ได้ดำเนินการที่ผ่านมา มั่นใจว่ามาตรการที่ ศบค. มอบหมายให้กระทรวงฯ มาช่วยขับเคลื่อน จะสามารถลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในโรงงานอุตสาหกรรมได้