นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า จากกรณี คพ. ได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนกรณีปัญหาน้ำเสียและกลิ่นเหม็นจากการประกอบกิจการโรงงานของบริษัท วิน โพรเสส จำกัด ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลบางบุตร อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง จากการตรวจสอบภายในโรงงานของบริษัท วิน โพรเสส จำกัด เมื่อเดือนตุลาคม 2563 พบว่า มีการสะสมวัตถุอันตรายไว้ภายในและภายนอกอาคารของโรงงาน และจากการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมบริเวณภายในโรงงาน และใกล้เคียงโรงงาน พบว่า บ่อน้ำของโรงงานมีลักษณะเป็นน้ำเสีย โดยมีสภาพเป็นกรดและปนเปื้อนโลหะหนัก และยังตรวจพบการรั่วไหลรั่วซึมจากบ่อน้ำภายในโรงงานออกสู่ภายนอก ส่งผลให้น้ำผิวดินบริเวณใกล้เคียงโรงงานมีค่าความเป็นกรดสูง และปนเปื้อนโลหะหนัก และยังตรวจพบค่าสารอินทรีย์ระเหยง่ายบริเวณด้านข้างโรงงาน บ่งชี้ว่ามีของเสียจากโรงงานระบายออกสู่ภายนอก ก่อให้เกิดความเสียหายให้แก่พื้นที่เกษตรกรรมและแหล่งน้ำสาธารณะ
ต่อมา คพ. ได้นำเรื่องการแก้ไขปัญหามลพิษกรณีโรงงานของบริษัทดังกล่าว เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 โดยที่ประชุมมีมติให้ ทส. โดย คพ. พิจารณาดำเนินการตามมาตรา 96 และ 97 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพ.ศ. 2535 ในกรณีที่บริษัทฯ ไม่ดำเนินการชดใช้ค่าเสียหายตามที่กฎหมายกำหนดและจะต้องมีการเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทฯ ให้ คพ. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป พร้อมทั้งดำเนินการติดตามและกำกับดูแลการดำเนินการฟื้นฟูบริเวณพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบ
นายอรรถพล กล่าวว่า คพ. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานรวบรวมพยานหลักฐานและค่าใช้จ่ายในการเรียกค่าสินไหมทดแทน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมประมง สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี) สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง และองค์การบริหารส่วนตำบลบางบุตร ได้ทำการประเมินค่าเสียหาย ค่าขจัดมลพิษและการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิดของบริษัท วิน โพรเสส จำกัด และจัดทำข้อมูลการประเมินค่าเสียหายตามมาตรา 97 เพื่อสรุปเป็นประเด็นในการพิจารณาประกอบการดำเนินคดี และการคิดค่าเสียหายทางแพ่ง
จากการรวบรวมพยานหลักฐานของ คพ. พบว่า ค่าใช้จ่ายในการเรียกค่าสินไหมทดแทนจะครอบคลุมค่าใช้จ่าย ดังนี้ 1 ค่าสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้ของประชาชน จำนวน 47 ล้านบาท ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ประชาชนได้ดำเนินการฟ้องเรียกค่าเสียหายไปแล้ว 2. ค่าเสียหายจากการไม่ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่ง อบต.บางบุตร จะเป็นผู้ใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหาย และ 3. ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม จำนวน 1,322,077,753.12 บาท คพ. ก็จะเป็นผู้ดำเนินการฟ้องเรียก ทั้งนี้ สำหรับขั้นตอนการดำเนินการ คพ.จะทำหนังสือถึงบริษัทฯ ให้แสดงเจตนาที่จะรับผิดในการชดใช้ค่าเสียหายภายใน 15 วัน หากบริษัทฯปฏิเสธหรือนิ่งเฉย คพ.ก็จะยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป นายอรรถพล กล่าว