เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 24) ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศ ณ วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2564 มีเนื้อหาสรุปได้ดังนี้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ข้อปฏิบัติในการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าอย่างถูกวิธีตามข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เมื่ออยู่นอกเคหสถาน หรือเมื่ออยู่ในที่สาธารณะยังคงเป็นข้อปฏิบัติและมาตรการป้องกันโรคที่สำคัญเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่หรือรับเชื้อ เมื่อพบผู้ไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ว่ากล่าวตักเตือนและสั่งให้ผู้นั้นปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าผู้นั้นไม่ปฏิบัติตาม ให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต่อไป
ในกรณีที่การปฏิบัติหน้าที่หรือการดำเนินกิจกรรมใดซึ่งการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาอาจเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือการดำเนินกิจกรรม หากผู้มีหน้าที่รับผิดชอบได้กำหนดให้มีมาตรการตรวจคัดกรอง ควบคุมความเสี่ยง ตรวจเมื่อพบผู้ติดเชื้อ รวมทั้งได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดแล้ว ให้ผ่อนผันการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าได้เฉพาะในช่วงเวลาของการปฏิบัติหน้าที่หรือการดำเนินกิจกรรมตามความจำเป็น
ข้อ 2 การกำหนดพื้นที่สถานการณ์ กำหนดเขตพื้นที่สถานการณ์เพื่อการบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการออกเป็น 5 ระดับพื้นที่ และกำหนดเขตพื้นที่จังหวัดจำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์ ดังนี้ 1. พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 2. พื้นที่ควบคุมสูงสุด 3. พื้นที่ควบคุม 4. พื้นที่เฝ้าระวังสูง 5. พื้นที่เฝ้าระวัง
จังหวัดในเขตพื้นที่สถานการณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในบัญชีรายชื่อจังหวัดตามเขตพื้นที่สถานการณ์แนบท้ายข้อกำหนดนี้ ในกรณีมีความจำเป็นต้องปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดให้สอดคล้องกับระดับเขตพื้นที่สถานการณ์ในระยะต่อไป ให้ดำเนินการโดยออกเป็นคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
ข้อ 3 มาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามพื้นที่สถานการณ์ สำหรับสถานที่กิจกรรม หรือกิจการ เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด รวมทั้งมาตรการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อที่ผู้รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่กำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะ
1. พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
ก. โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกประเภท การใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อจัดกิจกรรมตามแนวทางหรือลักษณะที่นายกรัฐมนตรี หรือ ศบค. ได้อนุญาตไว้แล้ว ให้สามารถดำเนินการได้ โดยเสนอต่อศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) พิจารณาก่อนดำเนินการ หรือเป็นกรณีที่เคยให้ได้รับยกเว้น ดังต่อไปนี้
1) เป็นการเรียนการสอนหรือกิจกรรมเพื่อการสื่อสารแบบทางไกลหรือด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
2) เป็นการใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อให้ความช่วยเหลือ สงเคราะห์ อุปถัมภ์ หรือให้การอุปการะแก่บุคคล
3) เป็นการจัดกิจกรรมของทางราชการหรือกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด
4 ) เป็นโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่มีขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนรวมทั้งโรงเรียนไม่เกิน 120 คน หรือเป็นโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน
ข. ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้บริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มในร้านได้ไม่เกินเวลา 23.00 นาฬิกา แต่ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน โดยจำกัดจำนวนผู้นั่งบริโภคในร้านเฉพาะที่เป็นการบริโภคในห้องปรับอากาศไม่เกินจำนวนร้อยละ 50 ของจำนวนที่นั่งปกติ ทั้งนี้ ให้ผู้ประกอบการจัดให้มีมาตรการคัดกรองผู้เกี่ยวข้อง การจัดระเบียบผู้เข้าใช้บริการ และการเว้นระยะห่างตามคำแนะนำและมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด
ค. สนามกีฬา สถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส ให้ปิดการให้บริการ ยกเว้นการใช้สถานที่เป็นที่เอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี ส่วนสนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทกลางแจ้งหรือตั้งอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง หรือสนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทในร่มที่อากาศถ่ายเทได้ดี สามารถเปิดให้บริการได้ไม่เกินเวลา 21.00 นาฬิกา และสามารถจัดการแข่งขันกีฬาได้โดยไม่มีผู้ชมในสนาม เมื่อได้มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด
ง. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ จนถึงเวลา 21.00 นาฬิกา โดยให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการและงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และสวนสนุก ที่งดการให้บริการ
2. พื้นที่ควบคุมสูงสุด
ก. โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกประเภท ให้สามารถใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใดๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากได้ โดยให้พิจารณาตามความจำเป็นและดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จัดกิจกรรมและสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ
ข. ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้บริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มในร้านได้ไม่เกินเวลา 23.00 นาฬิกา โดยห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน
ค. สนามกีฬา สถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส สามารถเปิดให้บริการได้ไม่เกินเวลา 21.00 นาฬิกา และสามารถจัดการแข่งขันกีฬาได้โดยจำกัดจำนวนผู้ชมในสนามเมื่อได้มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด
ง. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ โดยให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการและงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และสวนสนุก ที่งดการให้บริการ
3. พื้นที่ควบคุม
ก. โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกประเภท ให้สามารถใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใดๆ ได้ตามความเหมาะสมและความพร้อม โดยรูปแบบของการดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางการจัดระเบียบและระบบต่างๆ คำแนะนำของทางราชการ และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข
ข. ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้บริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มในร้านได้ภายในกำหนดเวลาปกติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน
ค. สนามกีฬา สถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส สามารถเปิดให้บริการได้ตามเวลาปกติ และสามารถจัดการแข่งขันกีฬาได้โดยจำกัดจำนวนผู้ชมในสนามเมื่อได้มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด
ง. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และสวนสนุก ที่งดการให้บริการ
4. พื้นที่เฝ้าระวังสูง
ก. โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกประเภท ให้สามารถใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ได้ตามความเหมาะสมและความพร้อม โดยรูปแบบของการดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางการจัดระเบียบและระบบต่างๆ คำแนะนำของทางราชการ และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข
ข. สนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ และสามารถจัดการแข่งขันกีฬาได้โดยจำกัดจำนวนผู้ชมในสนาม
ค. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ ยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และสวนสนุก ที่งดการให้บริการ
5. พื้นที่เฝ้าระวัง
ให้การเปิดดำเนินการของสถานที่ กิจการ และกิจกรรมในเขตพื้นที่เฝ้าระวัง สามารถเปิดดำเนินการและให้บริการได้เมื่อมีความพร้อมโดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เงื่อนไขการจัดระเบียบและระบบต่างๆ คำแนะนำของทางราชการ รวมทั้งกฎหมาย กฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ข้อ 4 การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคล เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรค โดยกำหนดจำนวนบุคคลจำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์ ดังนี้
(1) พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 50 คน
(2) พื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 100 คน
(3) พื้นที่ควบคุม ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 150 คน
(4) พื้นที่เฝ้าระวังสูง ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 200 คน
(5) พื้นที่เฝ้าระวัง ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 300 คน