เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ไทย หนุนตั้ง “เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของประเทศไทย” (Thailand Creative Cities Network หรือ TCCN) ชู อพท. พี่เลี้ยงดันหลังเมืองที่ประสงค์เข้าสู่การเป็นเครือข่าย UCCN ประเดินจัดเสวนาครั้งแรก เปิดเวทีระดมความคิด สร้างความรู้ความเข้าใจประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ และเกณฑ์ของยูเนสโก เป้าหมายขยายเส้นทางท่องเที่ยวเมืองสร้างสรรค์แห่งใหม่ มุ่งกระจายรายได้ท่องเที่ยว สร้างเศรษฐกิจชุมชนสู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์โรดแมปชาติ 20 ปี
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า จากแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่รัฐบาลมุ่งเน้นให้เกิดการต่อยอดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนผ่านการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ และการท่องเที่ยวเชื่อมโยงภูมิภาค เพื่อเพิ่มมูลค่าของเศรษฐกิจฐานชีวภาพให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน นำไปสู่การปรับปรุงกฎหมายและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกรอบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ได้กำหนดเป้าหมายทิศทางการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต โดยมุ่งพลิกโฉมประเทศไทยให้ก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่มี “เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน” โดยในประเด็นด้านการท่องเที่ยวนั้น แผนฉบับดังกล่าวได้วางเป้าหมายให้ไทยจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่าและความยั่งยืน สำหรับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (5) ประเด็นด้านการท่องเที่ยวนั้น ได้ระบุเป้าหมายของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อลดความเหลื่อล้ำ
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. เป็นหน่วยงานต้นน้ำ ที่ต้องดำเนินงาด้านการยกระดับเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับแหล่งท่องเทียว ชุมชน และประชาชนในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมา อพท. ได้ดำเนินการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษและพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายตามหลักมาตรฐานสากลให้เกิดความยั่งยืน จนเป็นที่ประจักษ์ ด้วยวิธีการบูรณาการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาบริการจัดการร่วมกัน และกลไกที่ อพท. ใช้ดำเนินงานอยู่นี้สามารถนำไปใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน
การดำเนินงานด้านการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ เป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่จะประกาศให้คนทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศได้เห็นถึงความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของการพัฒนาการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน และประโยชน์ของเมืองที่ได้เข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์คือเป้าหมายของการทำการตลาด เพราะจะได้รับความสนใจจากผู้คนที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยว
“กระบวนการเข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์นั้นเป็นการพัฒนาเมืองในหลายมิติซึ่งจะส่งผลให้มีการใช้ทรัพยากรต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ผสมผสานกับทุนทรัพยากรบุคคลที่มีความสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดการรังสรรค์งานและผลงานหลากหลายรูปแบบ ที่รวมกันเป็นอัตลักษณ์ของเมืองที่มีความโดดเด่นดึงดูดนักท่องเที่ยวและผู้เยี่ยมชม ก่อให้เกิดการสร้างงานและรายได้ต่อชุมชนและผู้คนในเมือง ซึ่งเป็นแกนหลักที่สำคัญและมีบทบาทในการสร้างและกำหนดทิศทางรูปแบบของเมืองที่ชุมชนเป็นเจ้าของอย่างมีส่วนร่วมและเท่าเทียม”
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า เป้าหมายการจัดกิจกรรมขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างการรับรู้และความตระหนักถึงประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ให้แก่เมืองเป้าหมายในประเทศไทยและภาคสังคมให้เห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งสอดคล้องกับการสนับสนุนการพัฒนาเมืองในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท. และเป็นการสร้างเวทีแห่งโอกาส เพื่อความร่วมมือต่อการขับเคลื่อนการดำเนินงานจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน สู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก เกิดความรับรู้และเข้าใจ ความสัมพันธ์ ในกลุ่มภาคีเครือข่ายของหน่วยงานการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกระดับประเทศ
ในเวทีเสวนาครั้งนี้จะเป็นการนำไปสู่การวางกรอบการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของประเทศไทย(Thailand Creative Cities Network หรือ TCCN) โดย อพท. เป็นองค์กรหลักในการดำเนินงาน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการหารือร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิและภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ของไทย และมีความเห็นร่วมกันว่าจากการที่ประเทศไทยมีหลายเมืองที่ได้เข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกแล้ว และยังมีอีกหลายเมืองที่แสดงความสนใจจะเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ หรือ UNESCO Creative Cities Network - UCCN และต้องการเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเมืองที่ได้เป็นสมาชิกเครือข่ายฯแล้ว ประกอบกับการพัฒนาสู่เมืองสร้างสรรค์ในบริบทของไทยควรที่จะได้เรียนรู้ประสบการณ์จากเมืองสร้างสรรค์เครือข่าย UCCN ของไทยด้วยกันเอง จึงสนับสนุนให้ อพท. จัดตั้ง “Thailand Creative City Network : TCCN” หรือ “เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของประเทศไทย” เพื่อเป็นเครือข่ายสำหรับภาคีทุกภาคส่วนที่จะร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในทุกมิติที่จะก้าวสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ จึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (TCCN 2021) ในวันนี้
เป้าหมายเพื่อการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ภายใต้ TCCN จะเป็นการสร้างความเข้าใจถึงประโยชน์ในการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ให้กับพื้นที่เป้าหมายที่มีศักยภาพเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ในอนาคตเพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะบูรณาความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย สำนักนายกรัฐมนตรี กลุ่มขับเคลื่อนในพื้นที่ทั้งระดับเมืองและระดับชุมชน องค์การบริหารส่วนจังหวัด สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด กลุ่มนักวิชาการ และ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
ปัจจุบันประเทศไทยมีเมืองที่เข้าสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกแล้ว 4 เมือง ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต กรุงเทพ และสุโขทัย และยังมีอีกหลายเมืองที่ทยอยสมัครในปีนี้ เช่น สุพรรณบุรี น่าน เชียงราย และเพชรบุรี เพราะประเทศไทยมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการยกระดับเมืองสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ตามแผนงานของ อพท. เป็นไปเพื่อประโยชน์ของการสร้างและกระจายรายได้ที่เกิดจากการท่องเที่ยวให้ลงสู่ประชาชนทุกภาคส่วนอย่างแท้จริงสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อร่วมผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน