ที่สวนเกษตรเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) นครราชสีมา นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในพิธีส่งมอบผลผลิตกัญชาส่วนช่อดอกแห้ง จำนวน 115 กิโลกรัม "โครงการผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส." ให้แก่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส.เป็นผู้ส่งมอบแก่นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมศาสตราจารย์ ดร.หนึ่ง เตียอำรุง คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส. และผู้แทนภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ร่วมเป็นเกียรติและแสดงความยินดี
ศาสตราจารย์ ดร.หนึ่ง คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส. เปิดเผยว่า "โครงการผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ มทส." ได้มุ่งค้นคว้า วิจัยและพัฒนานวัตกรรมในการสร้างกลไกให้เกิด Ecosystem เกี่ยวกับห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เพื่อสร้างห่วงโซ่แห่งคุณค่าให้กับพืชเศรษฐกิจใหม่ กัญชงและกัญชารวมถึงพืชสมุนไพร ในระยะแรกเริ่มเป็นการสร้างกิจกรรมส่งเสริมการปลูก การพัฒนานวัตกรรมการและเทคโนโลยีการปลูก การพัฒนาสายพันธุ์กัญชาควบคู่กับการจับคู่กับหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงมหาวิทยาลัย เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร บริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคม หน่วยวิจัยและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านรวมถึงการพัฒนาสู่การเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมกัญชาคุณภาพของประเทศ
สำหรับผลักดันการใช้ประโยชน์พืชกัญชง-กัญชาทางการแพทย์และสาธารณสุข ภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยกับกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขในการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชาคุณภาพทางการแพทย์ด้วยการส่งมอบกัญชาส่วนช่อดอกแห้ง จำนวน 115 กิโลกรัม เพื่อเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตยาแผนไทย 2 ตำรับ คือ ผลิตน้ำมันตำรับเมตตาโอสถและตำรับการุณย์โอสถ ภายใต้การผลิตที่ได้มาตรฐานและปลอดภัยเป็นโอกาสที่ประชาชนสามารถเข้าถึงกัญชาคุณภาพ ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งในการบำบัดรักษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป"
รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ อธิการบดี มทส. กล่าวว่า เป็นเวลาหนึ่งปีครึ่ง ที่ มทส.ได้ขับเคลื่อนโครงการผลิตกัญชาเชิงคุณภาพ ฯ ในโรงเรือนปิดบนพื้นที่ 15 ไร่ ขณะนี้เข้าสู่รอบการผลิตที่ 4 สามารถบ่งบอกถึงศักยภาพทีมนักวิจัยในการศึกษาค้นคว้าเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับกัญชาสายพันธุ์ไทยนับแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ การเพาะปลูก ดูแล รักษาและเก็บเกี่ยวผลผลิต กระทั่งการจัดอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่วิสาหกิจชุมชนหลายรุ่น ถือเป็นความสำเร็จตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำรวมถึงการส่งมอบผลผลิตกัญชาในส่วนของช่อดอกแห้ง ให้แก่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตยาแผนไทย ซึ่งเป็นความสำเร็จและความภาคภูมิใจในฐานะสถาบันการศึกษาตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ได้ศึกษา วิจัยและค้นคว้า นวัตกรรมทางการเกษตร สร้างโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์กัญชาคุณภาพ สร้างรายได้สู่วิสาหกิจชุมชน ผ่านความร่วมมือของทุกภาคส่วน