นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานขอบคุณคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.)ที่ได้พิจารณาและได้ตั้งข้อสังเกตพร้อมความเห็นต่อโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ในการประชุมเมื่อ 21 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมาเพื่อให้กรมชลฯรับมาพิจารณาและดำเนินการอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ภายหลังที่กรมได้นำเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการกิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างรุนแรง(EHIA) และกรมได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อกก.วล. ซึ่งแผนติดตามทั้งหมดกำหนดกรอบปฏิบัติการไว้ 15 ปีรวมทั้งสนับสนุนงบประมาณให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อให้การแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้รอบด้านและเป็นไปตามที่กรมชลฯ ให้ไว้กับกก.วล.
ทั้งนี้การสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอคือ อ.ท่าใหม่ อ.นายยายอามและ อ.แก่งหางแมว ความจุ 99.5 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) จากปริมาณน้ำท่าปีละกว่า 1,200 ล้านลบ.ม. ซึ่งปัจจุบันมี 3 อ่างในพื้นที่ที่ดำเนินการสร้างแล้วมีปริมาณน้ำกักเก็บรวม 209 ล้านลบ.ม. แต่ปริมาณยังไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตรในฤดูแล้ง ซึ่งพื้นที่จังหวัดจันทบุรีส่วนมากเป็นพืชมูลค่าสูงเช่นทุเรียน มังคุด ยางพารา พืชเหล่านี้จะขาดแคลนน้ำอย่างยิ่งในช่วงฤดูแล้ง นอกจากนั้นน้ำจากอ่างคลองวังโตนดจะป้อนระบบประปาจังหวัดจันทบุรีปีละ 15 ล้านลบ.ม. และในอนาคตน้ำจาก 4 อ่างจะสามารถผันไปช่วยเหลืออ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยองและพื้นที่เศรษฐกิจในจังหวัดอีอีซีได้อีกด้วย ทั้งนี้ปริมาณน้ำในอ่างจะผันมาเขื่อนประแสร์ปีละ 70 ล้านลบ.ม. เฉพาะในช่วงฤดูฝน
สำหรับด้านช้างป่านั้น กรมชลฯจะสนับสนุนงบประมาณให้กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ทั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ ในการจัดทำแหล่งอาหารช้าง 1,050 ไร่ และสร้างแหล่งน้ำเดิม ปรับปรุงแหล่งน้ำใหม่ การทำฝายชะลอน้ำเพื่อกักตะกอนดิน การทำโป่งเทียม แปลงหญ้า และการปรับเปลี่ยนพืชไร่ในพื้นที่รอยต่อกับป่าเพื่อป้องกันช้างลงมากินพืชไร่อีกด้วย ซึ่งทั้งหมดกรมชลฯจะจัดงบประมาณดำเนินการให้ทส.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงการประสานงานเท่านั้นเพื่อเป็นการยืนยันว่าทุกหน่วยงานจะมีงบประมาณดำเนินการให้เป็นไปตามแผนงานเพื่อรักษาและคุ้มครองช้างป่า ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ขณะที่เส้นทางไปน้ำตกแหล่งท่องเที่ยวสำคัญคือน้ำตกเขาสิบห้าชั้น กรมจะจัดสร้างถนนให้ใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว
ด้านป่าไม้กรมขอใช้พื้นที่ป่าสงวน 7 พันไร่และพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 7 พันไร่ กรมจะใช้พื้นที่ให้น้อยที่สุด นอกจากนั้นเมื่อมีการกักเก็บน้ำแล้วพื้นที่ที่เหลือรอบอ่างจะคืนให้ต้นสังกัดทั้งหมด ขณะที่พื้นที่เขื่อนหัวงาน เดิมจะขอใช้ 1,800 ไร่ จะลดลงมาเหลือไม่เกิน 1 พันไร่
สำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบประมาณ 580 ครัวเรือน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ป่า กรมจะมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาชดเชยราคาที่ดินที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาให้เป็นธรรม รวมทั้งการชดเชยสินไหมตามอายุของพืชแต่ละชนิด นอกจากนั้นจะร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)ในการช่วยเหลือทำโครงการบ้านมั่นคง และการพัฒนาอาชีพที่เหมาะกับพื้นที่ เช่นกรณีเขื่อนนฤบดินทรจินดา ที่กรมประมงสนับสนุนพันธุ์ปลา โดยให้ทำการประมงภายในขอบเขตที่กำหนด ปัจจุบันประชาชนหันมาทำประมงน้ำจืดและแปรรูปผลผลิตมีรายได้มากกว่าอดีตที่ทำการเกษตรอย่างเดียว