“สุริยะ”พอใจผลการดำเนินงาน 3 ไตรมาสปี 64 ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ที่ได้ผลตามเป้าแม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เผยตัวเลขตั้งโรงงานใหม่ 1,894โรง เม็ดเงินลงทุนกว่า 2.25 แสนล้านบาท ด้าน“กรอ.”โชว์ความสำเร็จในการดำเนินงานผ่าน 6 แผนโครงการด้วยนวัตกรรม 4.0 เสริมแกร่งผู้ประกอบการ ให้สามารถปรับตัวทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่เป็นตัวเร่งให้ต้องปรับตัวให้อยู่รอด!
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้รับการรายงานผลการดำเนินงานในช่วง 3 ไตรมาสของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) โดยเฉพาะในด้านการส่งเสริมการประกอบกิจการโรงงาน ตั้งใหม่ ขยาย และการตั้งเขตประกอบการ ในปีงบประมาณ 2564 (1 ต.ค.63 – 30 มิ.ย.64) ภาพรวมทั่วประเทศมีการประกอบกิจการโรงงานใหม่ จำนวน 1,894 โรงงาน มีมูลค่าการลงทุน 225,710.24 ล้านบาท มีการจ้างงาน 58,765 คน โดยมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 62.24 ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการประกอบกิจการใหม่สูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อโลหะ อุตสาหกรรมอาหาร และผลิตภัณฑ์โลหะ ตามลำดับ
ในส่วนของการขยายโรงงานใหม่มีจำนวน 209 โรงงาน มีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 69,083.30 ล้านบาท มีการจ้างงานรวมทั้งสิ้น 35,663 คน ขณะเดียวกันมีการเลิกประกอบกิจการโรงงานจำนวน 567 โรงงาน คิดเป็นมูลค่าการลงทุน จำนวน 29,541.10 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการอนุญาตเขตประกอบการอุตสาหกรรมใหม่ ของบริษัท ไทยอีสเทิร์น อินดัสเตรียล แลนด์ จำกัด อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี ที่ได้ยื่นขอรับการสนับสนุนเป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรม ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาการขอรับการสนับสนุนเป็นเขตประกอบการ ด้วยทุนจดทะเบียน 510 ล้านบาท
“ที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกระลอกนั้น แต่ในภาพรวมของการประกอบกิจการโรงงานยังสามารถไปต่อได้ ซึ่งผมรู้สึกพอใจกับตัวเลขของโรงงานอุตสาหกรรมทั้งที่มีการตั้งโรงงานใหม่ หรือการขยายโรงงาน เพราะส่งผลให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นจากการเริ่มฉีดวัคซีนโควิดในหลาย ๆ ประเทศ โดยในส่วนของประเทศไทย คาดว่าน่าจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากรัฐบาลเร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ประชาชน ซึ่งปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศทำให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น”นายสุริยะ กล่าว
ด้านนายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า กรอ. ได้ดำเนินการตรวจสอบและกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงานในเขตกรุงเทพมหานคร โดยสามารถตรวจติดตามและกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงานในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ครบ 100% ซึ่งเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ขณะเดียวกันมีการติดตามสถานการณ์และรายงานการตรวจเชิงรุกของเชื้อโควิด-19 ในโรงงานเขตกรุงเทพมหานคร พร้อมประสานข้อมูลโรงงานที่เกี่ยวข้องกับสินค้า หน้ากากอนามัย ถุงมือยาง มีการพัฒนาระบบบริหารกากอุตสาหกรรมแบบครบวงจร (E-FULLY MANIFEST) มีระบบฐานข้อมูลและติดตามการขนส่งกากอุตสาหกรรม (GPS) เพื่อติดตามรถขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตรายด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบเรียลไทม์ (Real Time) และส่งเสริมพัฒนาศักยภาพการจัดการกากอุตสาหกรรมตามหลัก 3Rs และ KAIZEN และมีโครงการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการจัดการของเสียอันตรายภาคอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ได้นำเทคโนโลยีเครื่องมือตรวจวัดมลพิษขั้นสูง เพื่อมาตรวจสอบการระบายมลพิษโรงงานแบบตลอดเวลา(Real-time) พร้อมระบบสื่อสารรายงานผลตรวจวัดแบบปัจจุบันผ่านอินเทอร์เน็ตในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ลดการใช้เจ้าหน้าที่ในการเข้าไปตรวจสอบ และเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลโรงงาน สอดคล้องกับนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 และการใช้ระบบ IT ในการช่วยการปฏิบัติงาน ลดการใช้คน เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการตรวจกำกับ อาทิ ระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติอย่างต่อเนื่อง (Continuous Emission Monitoring System : CEMS) ที่เป็นระบบตรวจวัดมลพิษ อากาศจากปล่องระบาย โดยกลุ่มเป้าหมายคือโรงงานที่มีขนาดใหญ่ มีการระบายมลพิษปริมาณมาก หรือมีการระบายสารมลพิษที่มีความเป็นพิษสูง
การขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564-2573 ในปี 2564 กรอ.อยู่ระหว่างดำเนินการ “โครงการรายงานและติดตามประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจกภาคอุตสาหกรรม” เพื่อขับเคลื่อนและติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ รวมถึงประเมินผลตัวเลขการลดก๊าซเรือนกระจก (tracking report) รายปี สำหรับมาตรการต่าง ๆ ภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าว เพื่อรองรับการรายงานตามพันธกรณีความตกลงปารีสและกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ต่อไป
โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) จากข้อมูล ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2564 กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกใบรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวมาแล้ว จำนวน 42,551 ใบรับรอง โดยปีงบประมาณ 2564 ประกอบด้วย ระดับ 1 จำนวน 369 ใบรับรอง ระดับ 2 จำนวน 574 ใบรับรอง ระดับ 3 จำนวน 727 ใบรับรอง ระดับ 4 จำนวน 74 ใบรับรอง และ ระดับ 5 จำนวน 8 ใบรับรอง รวมจำนวน 1,752 ใบรับรอง ทั้งนี้มีการกำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (พ.ศ. 2564 - 2580) ว่าสถานประกอบการจะต้องได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวทั้งหมดภายในปี 2568 โดยในปีนี้ให้สถานประกอบการได้รับรองอุตสาหกรรมสีเขียวร้อยละ 40
มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 กรอ.ได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2564 อาทิ การยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน จำพวกที่ 2 และจำพวกที่ 3 กว่า 56,000 โรงงาน ซึ่งเบื้องต้นผ่านมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564
“ภายใต้บริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ผู้ประกอบการจึงมีแนวโน้มจะเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ ที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ไม่เคยเผชิญมาก่อน เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การ“ปรับตัวแล้วรอด” คือการก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก และนำมาปรับใช้หรือต่อยอดกับธุรกิจของตนเอง เพื่อลดปัญหาการหยุด หรือเลิกกิจการ ตลอดจนการเลิกจ้างแรงงาน ลดปัญหาการว่างงานจากภาคอุตสาหกรรม โดย กรอ.พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำผู้ประกอบการให้สามารถปรับตัวและสามารถประกอบกิจการต่อไปได้ตามปกติ” อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวปิดท้าย