จังหวัดอุดรธานีรวบขบวนการหลอกสั่งจองวัคซีน "ซิโนฟาร์ม" ตำรวจชุดสืบสวนภูธรจังหวัดอุดรธานี และสืบสวนภูธรภาค 4 จับกุมผู้ต้องหาตามหมายฉ้อโกงประชาชนที่รีสอร์ทแห่งหนึ่งในจังหวัดสระบุรี อ้างเป็นหมอ รพ.ศิริราช หลอกสั่งจองวัคซีน "ซิโนฟาร์ม" ได้หากต้องการฉีด ผู้เสียหาย 200 คน หลงเชื่อโอนเงิน มูลค่าความเสียหายเบื้องต้น 360,000 บาท
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 3 กรกฎาคม 2564 ที่ห้องประชุมฉัตรไพฑูรย์ กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี พลตำรวจโทยรรยง เวชโอสถ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 นายกองเอกปราโมทย์ ธัญญพืช รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี พลตำรวจตรีพิษณุ อุณหเสรี ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี พลตำรวจตรีณัฐนนท์ ประชุม ผบก.สส.ภ.4 และนายทวีรัชต์ ศรีกุลวงศ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี แถลงข่าวจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดอุดรธานี ที่ จ.131/64 ลงวันที่ 2 ก.ค.64 ได้ที่รีสอร์ทแห่งหนึ่ง ที่อำเภอแก่งคอย สระบุรี
โดยกล่าวหา "ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน โดยแสดงตนเป็นคนอื่นและนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่หน้าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน" พล.ต.ท.ยรรยง เวชโอสถ ผบช.ภาค 4 กล่าวว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 30 มิ.ย 2564 ได้มีผู้เสียหาย ชื่อ นส.เพิ่มพูน นามสมมติ ชาวตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี มาแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนสภ.เมืองอุดรธานี ว่าถูกคนร้ายหลอกลวงอ้างเป็นนายแพทย์ รพ.ศิริราช ชื่อ นายแพทย์ สิทธิโชค ทวีประดิษฐ์ผล มีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ยี่ห้อ "ซิโนฟาร์ม" เหลือจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งได้สั่งซื้อจาก ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หากต้องการฉีดวัคซีนดังกล่าว ให้ชำระเงินค่าวัคซีน รายละ 1,800 บาท (จำนวน 2 โดส) จนกระทั่งผู้เสียหายหลงเชื่อ ได้เข้าไปในไลน์กลุ่ม "Vaccine Sinopharm"
เมื่อผู้เสียหายได้เข้าไปอยู่ในไลน์กลุ่มดังกล่าวแล้ว คนร้ายยิ่งให้ความเชื่อมั่นว่าเป็นกลุ่มที่แท้จริง โดยให้ผู้แจ้งเข้ากลุ่มอีกหนึ่งกลุ่ม ชื่อว่า "ระบบไอที วัคซีนทางเลือก" ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสมาชิกเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้เสียหายหลงชื่อว่ามีอยู่จริง จึงได้ติดต่อและรวบรวมเงินจากบุคคลที่ผู้เสียหายรู้จัก ที่อยากมาร่วมฉีดวัคซีน ได้จำนวน 20 คน รวมเป็นเงิน 36,000 บาท และได้โอนเงินเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 64 เข้าบัญชี ธ.กสิกรไทย เลขที่ 0331431532 ซึ่งปรากฎชื่อบัญชี นายวีระศักดิ์ สุขสำแดง ต่อมาผู้เสียหายไปตรวจสอบรายชื่อในโรงพยาบาลเอกชนในจังหวัดอุดรธานี กลับไม่มีรายชื่อที่แจ้งไว้ จึงเชื่อว่าได้ถูกหลอกลวงแล้วและได้เดินทางมาแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่สภ.เมืองอุดรธานี
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนภูธรจังหวัดอุดรธานี และสืบสวนภูธรภาค 4 ได้ติดตามจับกุมผู้ต้องหาได้ ทราบชื่อต่อมาคือ นายรนกร (สงวนนามสกุล) รับสารภาพว่า ได้ร่วมกันกับพวกอีก 5 คน หลอกผู้เสียหายรวมทั้งสิ้นไปแล้วกว่า 200 ราย และมีมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้นประมาณ 360,000 บาท จากการตรวจสอบพฤติการณ์พบว่า มีความเสียหายอีกในหลายพื้นที่ อาทิ สภ.บ้านเป็ด จ.ขอนแก่น, สภ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี, สภ.บางแก้ว จ.สมุทรปราการ, สน.เตาปูน, สภ.สมเด็จเจ้าพระยา และยังมีผู้เสียหายอีกจำนวนหลายร้อยรายที่ยังไม่ได้แจ้งความดำเนินคดี
ทั้งนี้ หากมีผู้เสียหายท่านใดที่หลงเชื่อไปแล้ว ขอให้ไปแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่สถานีตำรวจที่มีการโอนเงิน เนื่องจากเป็นการกระทำผิดหลายท้องที่ นายกองเอกปราโมทย์ ธัญญพืช รองผวจ.อุดรธานี กล่าวว่า ในนามจังหวัดและประชาชนชาวจังหวัดอุดรธานี ขอบคุณทางเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกคน ที่ขยายผลจับกุมผู้ต้องหาเพื่อที่จะไม่ให้เกิดความเสียหายมากกว่านี้ และฝากถึงประชาชนว่าในเรื่องของการหลอกลวง โดยเฉพาะเรื่องวัคซีนไวรัสโควิด-19 ก็ขอให้ประชาชนสอบถามทางราชการเป็นหลัก ให้ตรวจสอบก่อนที่จะโอนเงินว่ามีความเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน เพราะขณะนี้มีเรื่องการหลอกลวงในหลากหลายรูปแบบ มีอะไรสอบถามผู้รับผิดชอบโดยตรง
ขณะที่ นพ.ทวีรัชต์ ศรีกุลวงศ์ รองนพ.สสจ.อุดรธานี กล่าวว่า การขอรับการจัดสรรวัคซีน "ซิโนฟาร์ม" ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะมีข้อกำหนดชัดเจนทางเว็บไซต์ เช่น จะกำหนดให้องค์กรนิติบุคคลหรือหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน เป็นผู้ดำเนินงานเพื่อประสานติดต่อซื้อ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย จะเห็นว่านายแพทย์หรือโรงพยาบาลจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการประสานกับพี่น้องประชาชน จะรอประสานเมื่อหน่วยงานที่ติดต่อราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ว่าได้โควต้าวัคซีนแล้ว และจะนำไปฉีดในสถานที่ใด ซึ่งอุดรธานีก็จะมีโรงพยาบาลทุกแห่ง สามารถฉีดวัคซีน "ซิโนฟาร์ม" ได้