ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. มีมติอนุมัติลงนามสัญญาจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยี่ห้อไฟเซอร์ (Pfizer) จำนวน 20 ล้านโดส เพื่อนำเข้าประเทศไทย ภายในไตรมาสที่ 4 หรือภายในเดือนตุลาคม 2564 ขณะเดียวกันก็ยังเห็นชอบจัดซื้อวัคซีนซิโนแวก 10.9 ล้านโดสใช้วงเงินกู้ 6.1 พันล้านบาทอีก
ก่อนหน้านี้สำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับร่างสัญญาจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา และได้ตรวจร่างสัญญาจากกรมควบคุมโรค ทั้งสิ้น 3 วัน ก่อนแจ้งให้ผู้แทนจากกรมควบคุมโรคมารับร่างสัญญาดังกล่าวกลับไปในช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ก่อนที่ครม.จะอนุมัติลงนามจัดซื้อดังกล่าว
ขณะที่ ศ.นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) เผย ได้ข้อสรุปในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19เข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หรือ บูสเตอร์ แล้ว โดยบุคคลกลุ่มแรกที่จะได้รับวัคซีนคือ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 7 แสนคน และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เนื่องจากกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม ซึ่งปัจจุบันมีระยะห่าง 3-4 เดือนแล้ว จึงเหมาะสมที่จะได้รับวัคซีนบูสเตอร์ เพื่อรับมือกับโควิดสายพันธุ์เดลตา
หากวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสจากสหรัฐส่งมาได้เร็ว ก็จะนำมาฉีดให้ก่อน แต่หากวัคซีนสหรัฐมาช้า ก็จะนำวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าหรือ วัคซีนชนิด mRNA มาฉีดให้ก่อน การบูสเตอร์จะใช้เฉพาะคนที่มีความเสี่ยงสูงที่ไปสัมผัส หรือไปเสี่ยงกับผู้ติดเชื้อ ซึ่งกลุ่มแรก คือ บุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มสองผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ นายแพทย์อุดม กล่าวเพิ่ม บูสเตอร์โดสมีความสำคัญแน่นอน แต่ขอกรุณาอย่าไปลดประสิทธิภาพวัคซีนซิโนแวค เพราะสามารถลดเจ็บป่วยรุนแรง และเสียชีวิตได้