เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา นายศราวุฒิ ศรีศกุน หรือ ศรีศกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้จัดการพื้นที่พิเศษเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ทุจริตโครงการก่อสร่างบ้านพักท่องเที่ยว และใช้บ้านพักนักท่องเที่ยวเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตาม พ.ร.บ.ว่า ด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 8 , 11 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา
โดยเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 มีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 8 , 11 และ พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 8 ซึ่งเป็นบทหนัก ตาม ป.อ.มาตรา 90 จำคุก 5 ปี
จำเลย รับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา และจำเลยพยายามบรรเทาผลร้ายโดยนำเงินมาวางศาลชำระค่าเสียหายแก่สำนักงานพื้นที่พิเศษเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และสำนักงานพัฒนาพิงคนคร จำนวน 1,000,000 บาท
จึงมีเหตุบรรเทาโทษ สมควรลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้เป็นว่าให้ปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง เป็นเงิน 30,000 บาทลดโทษให้หนึ่งในสาม ตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ลงมติเห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
สำหรับ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 8 ระบุว่า ผู้ใดเป็นพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์การ บริษัทจำกัดห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท