ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
มท.มีหนังสือถึง77จว.ปฏิบัติเข้มเดินทางใน14วัน
11 ก.ค. 2564

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) เปิดเผยว่า ด้วยนายกรัฐมนตรีได้ลงนามในข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2564

และคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 9/2564 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 กำหนดเขตพื้นที่สถานการณ์เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุด 24 จังหวัด พื้นที่ควบคุม 25 จังหวัด และพื้นที่เฝ้าระวังสูง 18 จังหวัด โดยมีผลตั้งวันพรุ่งนี้ (12 กรกฎาคม 2564) เป็นต้นไป

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และกรุงเทพมานคร รับทราบและถือปฏิบัติตามข้อกำหนดฯ และคำสั่งฯ ดังกล่าว

ได้เน้นย้ำให้กรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดปริมณฑล (นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร) หารือกับคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ประสานการปฏิบัติกับฝ่ายทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางระบบและกำกับติดตามให้เป็นไปตามมาตรการตามข้อกำหนด

ได้แก่ 1.ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา 21.00-04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน นับแต่วันที่ข้อกำหนดฉบับนี้ใช้บังคับ กรณีบุคคลที่ได้รับการยกเว้นฯ ให้แสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรแสดงตนอย่างอื่น และเอกสารรับรองความจำเป็น เอกสารเกี่ยวกับสินค้า บริการการเดินทาง หรือหลักฐานอื่น ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

โดยกรณีบุคคลที่ได้รับการยกเว้นฯ ได้แก่ การสาธารณสุข การขนส่งสินค้าเพื่อประโยชน์ของประชาชน การขนส่งหรือขนย้ายประชาชน การให้บริการหรืออำนวยประโยชน์หรือความสะดวกแก่ประชาชน และการประกอบอาชีพที่จำเป็น ให้หน่วยงาน หรือบริษัท หรือสถานประกอบการต้นสังกัด แล้วแต่กรณี เป็นผู้ออกเอกสารรับรองความจำเป็น

สำหรับกรณีอื่น ๆ นอกเหนือจากบุคคลที่ได้รับการยกเว้น ให้ขอเอกสารรับรองความจำเป็น ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ ผู้อำนวยการเขต หัวหน้าสถานีตำรวจ หรือผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ตามตัวอย่างแบบรับรองความจำเป็น

และในกรณีที่สมควรเพิ่มเติมข้อยกเว้นการห้ามออกนอกเคหสถานเป็นการทั่วไปเพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดเสนอผ่านศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เพื่อให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาอนุญาต

2.ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐดำเนินมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งให้เต็มความสามารถที่จะทำได้ ส่วนการปฏิบัติงานที่ต้องให้บริการประชาชนโดยตรง สาธารณูปโภค การรักษาความปลอดภัย การรักษาความสงบเรียบร้อย หรืองานที่มีกำหนดเวลาปฏิบัติชัดเจนและได้นัดหมายไว้ล่วงหน้าแล้วและสามารถจัดมาตรการป้องกันโรคได้

ให้พิจารณาดำเนินการตามความจำเป็นและเหมาะสม สำหรับการปฏิบัติงานของภาคเอกชน ให้เจ้าของกิจการ ผู้ประกอบการ หรือผู้รับผิดชอบในสถานประกอบการพิจารณาสนับสนุนปรับรูปแบบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และบุคลากรในสังกัดให้เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาด

3.มาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วนสำหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรม ให้เปิดดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ตามข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 โดยกรณีกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่พนักงานเจ้าหน้าที่ให้จัดกิจกรรมได้

หากประสงค์จะจัดกิจกรรมในช่วงระยะเวลานี้ ให้ผู้รับผิดชอบการจัดกิจกรรมดังกล่าวดำเนินการขออนุญาตต่อคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร/คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี เพื่อตรวจสอบและทบทวนมาตรการป้องกันโรคในการจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับห้วงเวลาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

และให้พนักงานเจ้าหน้าที่กวดขันการมั่วสุมประชุมกันเพื่อเล่นการพนัน ดื่มสุรา เสพยาเสพติด หรือการกระทำผิดกฎหมายอื่นใดอย่างเคร่งครัดและให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่

4.ให้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัด ในเส้นทางคมนาคมเข้า-ออกกรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงาน และคัดกรองการเดินทางของประชาชนทั่วไป

5.มาตรการป้องกันและรองรับผู้ติดเชื้อ ให้ประสานการดำเนินการร่วมกันระหว่างภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ท้องถิ่น และชุมชนในพื้นที่ สนับสนุนให้มีการใช้สมุนไพรหรือการแพทย์แผนไทยในการบำบัดหรือรักษา เพิ่มโอกาสการเข้าถึงระบบการตรวจหาเชื้อ เร่งรัดจัดตั้งสถานพยาบาลชั่วคราว โรงพยาบาลสนาม

การวางระบบหรือจัดหาสถานที่เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์พักคอยรอการส่งตัว หรือระบบแยกกักเพื่อรองรับการให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ เพิ่มจำนวนจุดบริการตรวจคัดกรองและเร่งรัดการให้บริการตรวจคัดกรองและการฉีดวัคซีนป้องกันโรคในกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งการฉีดวัคซีนป้องกันโรคในพื้นที่การแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน

และในส่วนของจังหวัดชายแดนภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหารือกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ประสานการปฏิบัติกับฝ่ายทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางระบบและกำกับติดตามให้เป็นไปตามมาตรการ

1.ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา 21.00-04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน นับแต่วันที่ข้อกำหนดฉบับนี้ใช้บังคับ การปฏิบัติกรณีบุคคลที่ได้รับการยกเว้นการห้ามออกนอกเคหสถาน ดำเนินการตามแนวทางเดียวกันกับกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล

รวมทั้งเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัดในเส้นทางคมนาคมเข้าออกจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงาน และคัดกรองการเดินทางของประชาชนทั่วไป

สำหรับในการเดินทางข้ามจังหวัดของประชาชนในพื้นที่อื่น ๆ ให้ทุกจังหวัดประสานการปฏิบัติกับฝ่ายทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างการรับรู้ให้ประชาชนหลีกเลี่ยงหรือชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่จังหวัดในช่วงระยะเวลานี้โดยไม่มีเหตุจำเป็น เพื่อประโยชน์ส่วนรวม

กรณีที่จำเป็นต้องเดินทางข้ามเขตพื้นที่ อาจไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางและอาจต้องใช้ระยะเวลามากกว่าปกติ พร้อมเฝ้าระวัง คัดกรอง ผู้เดินทางจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด กรณีที่พบผู้เดินทางมาจากจังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

ให้ดำเนินการตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรค โดยการคุมไว้สังเกต แยกกัก หรือกักกันในพื้นที่ที่พำนักหรือสถานที่ที่ทางราชการกำหนด หรือตามหลักเกณฑ์หรือแนวปฏิบัติด้านสาธารณสุขที่กำหนด โดยต้องไม่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือการดำเนินงานเพื่อประโยชน์สาธารณะของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง

และในด้านการจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม ให้ทุกจังหวัด (ยกเว้นกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล) ถือปฏิบัติตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 19 มิ.ย. 64 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จัดกิจกรรมและสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ

และกรณีคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด มีมติให้ออกประกาศหรือคำสั่ง ให้ส่งประกาศหรือคำสั่งให้ ศบค.มท. ทราบโดยเร็ว เพื่อรายงานสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป รวมทั้งให้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบประกาศหรือคำสั่งโดยทั่วกัน

นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ยังสั่งเร่งรัดมาตรการด้านการป้องกันและการควบคุมโรค การรักษาพยาบาล และการฉีดวัคซีนเพื่อลดความรุนแรงของโรค และในขณะเดียวกันก็ยังคงมาตรการเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจพื้นฐานยังคงดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งมาตรการเหล่านี้ “จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน” เพื่อให้ฝ่าวิกฤตินี้ให้ผ่านพ้นไปด้วยกัน

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...