น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในวันที่ 5 ธันวาคม ที่กำลังจะมาถึง ว่า ชาวไทยทุกคนต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่9 กษัตริย์ผู้ทรงเป็นนักพัฒนาและทรงงานหนักที่สุดในโลก เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและมีความสุขของลูกๆ ชาวไทยทุกหมู่เหล่า กรมสุขภาพจิต จึงขอเชิญชวนคุณพ่อทุกท่านร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ น้อมนำพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท สอนลูกหลานตามคำสอนของพระองค์ เพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิตและครอบครัว โดยเฉพาะ การสร้างความเข้มแข็งทางใจ ที่จะเป็นเกราะกำบังให้เด็กๆ เติบโตขึ้นด้วยความเข้มแข็ง มั่นคง กล้าเผชิญกับปัญหาและอุปสรรค สามารถเรียนรู้ และมีกำลังใจในเวลาที่ชีวิตต้องเผชิญกับเรื่องที่ยุ่งยาก ดังพระราชดำรัส “…ความเข้มแข็งในจิตใจนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องฝึกฝนแต่เล็กเพราะว่าต่อไป ถ้ามีชีวิตที่ลำบาก ไปประสบอุปสรรคใดๆ ถ้าไม่มีความเข้มแข็ง ไม่มีความรู้ ไม่มีทางที่จะผ่านอุปสรรคนั้นได้ เพราะว่าถ้าไม่เจออุปสรรคอะไร ก็ไม่มีอะไรที่จะมาช่วยเราได้ แต่ถ้ามีความรู้ มีอัธยาศัยที่ดี และมีความเข้มแข็ง ในกาย ในใจ ก็สามารถที่จะผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ นั้นได้…”
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ปัญหาความรุนแรง ทำร้ายตนเองและผู้อื่นที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะ ในเด็กและวัยรุ่น ปฏิเสธไม่ได้ว่า มาจากการขาดความเข้มแข็งทางใจ ซึ่งหมายถึง การขาดความสามารถในการจัดการกับปัญหาและวิกฤตที่เกิดขึ้นในชีวิต ไม่สามารถลุกขึ้นจากปัญหาได้ในเวลาอันรวดเร็ว ตลอดจน ไม่สามารถเรียนรู้และเติบโตได้จากการเผชิญกับปัญหาและวิกฤตนั้นๆ อย่างไรก็ตาม ความเข้มแข็งทางใจ ไม่สามารถสร้างได้เพียงชั่วข้ามคืน แต่ต้องเกิดขึ้นจากการปลูกฝังตั้งแต่เด็กๆ พ่อแม่จึงมีส่วนสำคัญยิ่งที่จะทำให้ความเข้มแข็งทางใจของเด็กเกิดขึ้นได้
แนวทางสร้างความเข้มแข็งทางใจให้กับลูกๆ ได้แก่ 1. สอนลูกให้รู้สึกดีกับตัวเอง ด้วยการให้เขาหมั่นดูแลร่างกายและจิตใจให้สดชื่น แข็งแรงอยู่เสมอ สนับสนุนให้เขาค้นหาความถนัดและบ่มเพาะให้เกิดผลสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ ฝึกให้มองโลกในแง่ดี อธิบายสิ่งต่างๆ ในทางที่สร้างกำลังใจ ยอมรับข้อดีข้อเสียของตัวเอง ไม่เปรียบเทียบกับผู้อื่นให้รู้สึกด้อย และชมเชยลูกเวลาที่เขาทำความดี เป็นต้น 2. สอนลูกให้จัดการชีวิตได้ เพื่อให้เขายอมรับกับสภาพความเป็นจริงของชีวิต ทำใจในสิ่งที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ ตลอดจนเรียนรู้ที่จะจัดการอารมณ์ของตนเองและมีทักษะในการจัดการปัญหาอย่างสร้างสรรค์ได้ ด้วยการสอนให้เขารู้จักและรับรู้อารมณ์ตัวเอง ยอมรับอารมณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นธรรมชาติ ทั้งดีใจ โกรธ เสียใจ ผิดหวัง เมื่อยอมรับได้ การจัดการอารมณ์ก็จะเป็นไปอย่างเหมาะสมมากขึ้น เช่น โกรธได้ แต่ไม่อาละวาด ไม่หงุดหงิดรุนแรง ตลอดจนฝึกเขาให้ทำอะไรด้วยตัวเอง ไม่ต้องช่วยเขาทุกเรื่อง ลองให้เขาคิดแก้ปัญหาเองในเรื่องเล็กๆน้อยๆ ให้รู้จักรอคอยเป็น รู้จักผิดหวังบ้าง เป็นต้น 3. สร้างสายสัมพันธ์เกื้อหนุนให้กับลูก สร้างบรรยากาศครอบครัวให้อบอุ่นและปลอดภัย พ่อแม่มีความสัมพันธ์อันดี ไม่ใช้ความรุนแรง ทั้งทางคำพูดและทางกาย สื่อสารดีต่อกัน ลดการบ่นตำหนิ ถ้าพ่อแม่บ่นว่าอย่างไรเด็กก็เป็นอย่างนั้น เช่น บ่นว่าไม่รับผิดชอบที่ทำงานไม่เสร็จ ต่อไปลูกก็ไม่รับผิดชอบจริงๆ จึงควรพูดดีๆกับลูก ตลอดจนให้กำลังใจ ให้ความรัก ความเข้าใจ ไว้วางใจและอภัยให้กันได้ เป็นต้น และ 4. สอนลูกให้มีจุดหมายในชีวิต และลงมือทำเพื่อมุ่งไปสู่จุดมุ่งหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยทำให้ชีวิตมีความหมาย มีคุณค่า และเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง เบื้องต้น อาจสอนให้ลูกรู้จักบริหารเวลาแบบง่ายๆ รู้ว่าอะไรสำคัญ คิดถึงปัญหาที่จะตามมา คิดถึงเป้าหมายที่ต้องการ ฝึกตั้งเป้าหมายเล็กๆ ที่พอไปถึงได้ก่อน เพื่อจะได้รู้สึกดี มีกำลังใจที่จะทำต่อ เป็นต้น ที่สำคัญ พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กด้วยในการมีความเข้มแข็งทางจิตใจ หากต้องการให้ลูกมีแนวคิดในการดำรงชีวิตอย่างไร พ่อแม่ก็ต้องเริ่มเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว *************2 ธ.ค.2559