สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สนอว.) จัดการประชุม ครั้งที่ 2/2564 ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ ตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) เป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรี (ดร.วิษณุ เครืองาม) เป็นรองประธานคนที่หนึ่ง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) (ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์) รองประธานคนที่สอง พร้อมด้วยรัฐมนตรี ผู้บริหารจากกระทรวงฯ หน่วยงานต่างๆ และผู้ทรงคุณวุฒิ
ที่ประชุมสภานโยบายฯ ได้ระดมความเห็นเกี่ยวกับแนวทางที่จะเร่งสนับสนุนการวิจัย พัฒนา และเตรียมความพร้อมในการผลิตวัคซีน และยารักษาโรคโควิด-19 ของไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความเร่งด่วนและสำคัญต่อความมั่นคงด้านสาธารณสุขของประเทศและชีวิตของประชาชน ซึ่งขณะนี้มีโครงการพัฒนาวัคซีนของไทยเองกว่า 20 ชนิด หลายโครงการมีความคืบหน้ามาก เช่น โครงการของคณะแพทยศาสตร์ จุฬา (mRNA) อยู่ระหว่างการทดลองในมนุษย์ และโครงการของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬา (Protein Subunit) กำลังจะทดลองในมนุษย์ โดยรองนายกรัฐมนตรีดอนฯ ได้สั่งการให้ อว. นำข้อคิดเห็นของที่ประชุมไปดำเนินการ
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งได้นำเสนอร่างแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564 – 2570 ต่อคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) แล้ว เพื่อใช้เป็นกรอบการทำงานสำหรับหน่วยงานต่างๆ ในการร่วมขับเคลื่อนวาระแห่งชาติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วและยั่งยืน รวมถึงได้มีการรายงานความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG รายสาขา เช่น การลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวด้วยการจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และสร้างเครือข่าย “Carbon Market Club” เพื่อเป็นตลาดซื้อขายคาร์บอนเพื่อชดเชยสำหรับกิจการที่ปล่อยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง การลงทุนด้านการวิจัย และตัวอย่างผลกระทบที่สำคัญ เช่น การปรับใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อการผลิตสินค้าพรีเมียม การยกระดับการให้บริการด้านสุขภาพและการแพทย์ ความก้าวหน้าของการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 การสังเคราะห์สารตั้งต้นในการผลิตยา “ฟาวิพิราเวียร์” สำหรับเป็นยาต้านโควิด ตลอดจนการปรับแก้กฎหมายเพื่อส่งเสริมการประกอบการธุรกิจ BCG และการสื่อสารให้เกิดการรับรู้เกี่ยวกับโมเดลเศรษฐกิจในวงกว้างทั้งในและต่างประเทศ
เคาะ! (ร่าง) กรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. พ.ศ. 2566 - 2570
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เปิดเผยว่า ที่ประชุม สนอว. ได้มีมติเห็นชอบต่อ (ร่าง) กรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. พ.ศ. 2566 – 2570 โดย (ร่าง) กรอบนโยบายฯ ดังกล่าว จะเป็นการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์หลักครั้งสำคัญของประเทศด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยประกอบด้วย 6 จุดมุ่งเน้นของนโยบาย (High-priority Policy) ดังนี้ (1) ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง โดยใช้การพัฒนาตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) (2) ประเทศไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มุ่งเน้นคุณค่าและความยั่งยืน สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ (3) ประเทศไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป และอาหารที่มีคุณค่าและมูลค่าสูง โดยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 1 ใน 10 ของโลก (4) ผู้สูงอายุมีศักยภาพและโอกาสอย่าง
เต็มที่ในการพึ่งตนเอง มีคุณค่าและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สังคม เพื่อรองรับสังคมสูงวัย (5) ประเทศไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวหน้า ล้ำยุคสู่อนาคต สำหรับการยกระดับอุตสาหกรรม ธุรกิจ และการบริการที่มีอยู่แล้ว และพัฒนาอุตสาหกรรม/ธุรกิจใหม่ และ (6) ประเทศไทยสามารถสร้างกำลังคนสมรรถนะสูงและเป็นศูนย์กลางกำลังคนระดับสูงของอาเซียน โดยการพลิกโฉมระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และสอดรับกับปรัชญาการอุดมศึกษาไทย
“ที่ประชุมได้เห็นชอบ พร้อมได้มอบหมายให้คณะกรรมการการอุดมศึกษา และคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ใช้ (ร่าง) กรอบนโยบายฯ ดังกล่าว เพื่อจัดทำแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และมอบหมายให้กระทรวง อว. นำเสนอ (ร่าง) กรอบนโยบายฯ ดังกล่าว ต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้กรอบนโยบายดังกล่าว เป็นการพลิกโฉมครั้งสำคัญที่มีจุดมุ่งเน้นและประสานทั้งภาคการอุดมศึกษา และภาคการวิจัยและนวัตกรรม โดยหลักการของ (ร่าง) กรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. ใช้หลักการเชิงนโยบายที่เป็นการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของประเทศ ด้วยการสนธิกำลังของ อววน. ที่มีธงบอกทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน ท้าทายและทำได้จริง และสร้างแรงบันดาลใจ โดยใช้ความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ จุดแข็งด้านอัธยาศัย จิตใจ วัฒนธรรม และทักษะของคนไทย ความหลากหลายทางชีวภาพ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและพันธมิตร เน้นการพัฒนาโดยมีเป้าหมายคู่ขนาน คือ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและความสามารถในการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนในระดับประเทศ โดยใช้ อววน. บูรณาการข้ามศาสตร์ ข้ามกระทรวง รวมทั้งการสร้างความร่วมมือและการดึงภาคเอกชนและภาคีภาคส่วนต่างๆ มาร่วมยกระดับการพัฒนาลักษณะ Co-Production และ Co-Investment เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน ทั้งในระบบ อววน. และกับหน่วยงาน/ภาคส่วนอื่นๆ เพื่อการขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายของประเทศ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าว
บูรณาการและขับเคลื่อนการบริหารจัดการทุนพัฒนากำลังคนการอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาประเทศ
ศาสตราจารย์ นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. ในฐานะกรรมการและเลขานุการของ สนอว. เปิดเผยว่า ที่ประชุม สนอว. ยังได้เห็นชอบต่อนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทุนพัฒนากำลังคนการอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาประเทศ โดยนโยบายดังกล่าว จะช่วยให้ทิศทางการจัดการทุนพัฒนากำลังคนอุดมศึกษาของประเทศมีเอกภาพและการบริหารจัดการมีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีการกำหนดทิศทางการจัดสรรทุนที่ชัดเจนเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลง และความต้องการของประเทศได้อย่างทันเวลา จากการวิเคราะห์ปัญหาในการจัดสรรทุนที่ผ่านมา พบว่า ระบบการจัดสรรทุนที่มีอยู่ยังไม่ตอบโจทย์การพัฒนากำลังคนระดับสูงเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ชาติ ต้องมีการวางแผนการพัฒนากำลังคนแต่ละสาขาที่จำเป็นในการพัฒนาประเทศ ให้เกิดความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการ เนื่องจากการจัดการทุนอยู่ภายใต้หลายหน่วยงาน การจัดสรรทุนมีลักษณะกระจัดกระจาย เงื่อนไขการให้ทุนและการชดใช้ทุนไม่สร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่เข้ารับทุน ควรมีกลไกการติดตามผู้รับทุนที่มีประสิทธิภาพและการประเมินผลการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ รวมถึงมีแผนการใช้ประโยชน์จากผู้รับทุนอย่างชัดเจนและเต็มศักยภาพ เพื่อให้ประเทศสามารถดึงดูดและพัฒนาคนเก่ง ให้เข้าสู่ระบบและเป็นทางเลือกของคนรุ่นใหม่ต่อไป โดยเฉพาะการสร้างความชัดเจนของระบบเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพของผู้รับทุนและค่าตอบแทนที่เหมาะสม ใกล้เคียงแหล่งทุนอื่นๆ ในต่างประเทศ เช่น ทุนให้เปล่า หรือทุน Post Doc ที่มีค่าตอบแทนสูง เป็นต้น
“นโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทุนพัฒนากำลังคนการอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาประเทศ จะมุ่งเน้นใน 3 ประเด็น คือ (1) การปฏิรูปกลไกการบริหารจัดการทุนให้มีความเป็นเอกภาพภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการบริหารจัดการทุน เช่น การจัดสรรทุนเพื่อพัฒนาสมรรถนะและทักษะที่จำเป็นในการพัฒนาประเทศ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การปรับรูปแบบเงื่อนไขการรับทุนและชดใช้ทุนให้มีความยืดหยุ่น เป็นต้น (2) มีการจัดสรรทุนเพื่อสร้างคนให้ตรงกับตลาดงานและสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ เช่น การกำหนดเป้าหมายและจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มสาขาวิชาตามความเร่งด่วนเพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณในการจัดสรรทุนเกิดความคุ้มค่าและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ มีการจัดสรรทุนเพื่อพัฒนากำลังคนที่มีความรู้ความสามารถขั้นสูงและมีสมรรถนะตามความ
ต้องการของตลาดงานที่เปลี่ยนแปลงไป และ (3) การขับเคลื่อน ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานให้เป็นระบบและสม่ำเสมอ รวมทั้งวางแผนการใช้ประโยชน์จากผู้รับทุน ทั้งนี้ หลังจากที่ประชุมสภานโยบายฯ มีมติเห็นชอบนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทุนพัฒนากำลังคนฯ จะดำเนินการเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป” ปลัดกระทรวง อว. กล่าว
แนวทางในการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox)
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบต่อ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการ และกลไกการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา เพื่อนำไปจัดทำประกาศสภานโยบายฯ พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษาเพื่อปฏิบัติหน้าที่แทน สนอว. และให้นำเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการ และกลไกการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นในการปรับรูปแบบการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา จากกระแสการเปลี่ยนแปลงและประเด็นอุบัติใหม่ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และวิถีชีวิต ที่มีนัยต่อบทบาทและแนวทางการพัฒนากำลังคนของสถาบันอุดมศึกษาที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้ทันกับกระแสดังกล่าว เพื่อให้ประเทศไทยมีกำลังคนทั้งด้านปริมาณและคุณภาพที่เพียงพอและสามารถตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที โดยในบริบทการพัฒนาของประเทศไทย มีประเด็นสำคัญและมีผลกระทบต่อแนวทางจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ รูปแบบวิถีชีวิตแบบหลายช่วง (Multistage life) และการเตรียมรองรับวิกฤติการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาจึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ทันกับบริบทที่เปลี่ยนไป และควรมีการทดลองใช้นวัตกรรมการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ ที่อาจยังไม่มีมาตรฐานการอุดมศึกษาในปัจจุบันมารองรับ เพื่อทำให้เกิดการสร้างมาตรฐานอุดมศึกษาในกระบวนทัศน์แบบใหม่ และนำไปสู่การพัฒนากำลังคนที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่ได้มากขึ้น โดยข้อเสนอแนวทางในการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษานี้ เป็นไปตามที่ได้กำหนดใน พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 69 ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมการจัดการอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้สถาบันอุดมศึกษาพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศได้อย่างมีประสิทธิผล โดยการปลดล็อคข้อจำกัดของกฎ ระเบียบ และขั้นตอนการปฏิบัติในการพัฒนาหลักสูตร และการจัดการเรียนการสอนแบบเดิม
“ตัวอย่างมาตรฐานการอุดมศึกษาที่เป็นข้อจำกัดในการพัฒนานวัตกรรมการอุดมศึกษา เช่น การจำกัดจำนวนหน่วยกิตในการเทียบโอนเขาสูการศึกษาในระบบซึ่งขัดต่อการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและระบบคลังหน่วยกิต การกำหนดคุณสมบัติของผู้สอนและผู้รับผิดชอบหลักสูตร และการจำกัดจำนวนชั่วโมงสอนของอาจารย์พิเศษ ซึ่งจะไม่เอื้อต่อการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้การผลิตกำลังคนให้ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรม เป็นต้น กระทรวง อว. กำลังดำเนินการปรับปรุงมาตรฐานการอุดมศึกษาเพื่อให้เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมการผลิตบัณฑิตมากขึ้น ซึ่งจะมีผลกับสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งต่อไป โดยเป็นการปรับปรุงกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องจำนวน 4 ฉบับ ซึ่งในระหว่างที่กำลังจัดทำกฎกระทรวงใหม่นี้ หากสถาบันอุดมศึกษาต้องการพัฒนานวัตกรรมการอุดมศึกษาโดยจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา สามารถดำเนินการภายใต้มาตรา 69 ของ พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นการยกเว้นมาตรฐานการอุดมศึกษาสำหรับสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับอนุมัติจัดการศึกษาในลักษณะดังกล่าวเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการอุดมศึกษาใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาบัณฑิตตามความต้องการของผู้ใช้งาน สร้างบัณฑิตรองรับการพัฒนาอนาคต และสร้างการพลิกโฉมระบบการอุดมศึกษา” ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าว
เร่งจูงใจเอกชน ระดมทุนผ่าน “กองทุนนวัตกรรม” เพิ่มขีดความสามารถทางนวัตกรรมสำหรับ SMEs
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้รายงานให้สภานโยบายฯ ทราบถึงความก้าวหน้าในการจัดตั้ง “มูลนิธิกองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม (Innovation Fund Foundation for Industry)” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุน SMEs
ในการพัฒนาหรือประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถศักยภาพในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยทั้งในระดับภูมิภาคจนถึงระดับชาติ ตลอดจนสร้างโอกาสทางการแข่งขันให้ภาคอุตสาหกรรมเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้จะดำเนินการในลักษณะกองทุนจากเอกชนเพื่อช่วยเอกชน โดยการระดมเงินทุนจากการบริจาคของธุรกิจขนาดใหญ่ จำนวนไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท และภาครัฐจะมีการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) ในระยะ 3 ปีแรก ในอัตราส่วน 50 : 50 ซึ่งจะสนับสนุนเมื่อภาคเอกชนได้สนับสนุนงบประมาณเข้ากองทุนนวัตกรรมแล้ว นอกจากนี้ สำหรับบริษัทที่บริจาคเงินเข้ากองทุน จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อให้สามารถนำไปหักค่าใช้จ่ายได้ไม่ต่ำกว่า 2 เท่า ระยะเวลา 3 ปี
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวว่า กระทรวงต่างๆ ที่ร่วมในการขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมมีความพร้อมด้านบุคลากรวิจัยและนวัตกรรม ตลอดทั้งมีมาตรการสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น มาตรการสนับสนุนทางการเงิน การให้คำปรึกษาทางเทคโนโลยี การถ่ายทอดเทคโนโลยี การอำนวยความสะดวกและบริการด้านการตรวจวิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ และการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือ SMEs ยินดีที่จะประสานความร่วมมือกับมูลนิธิกองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมเพื่อร่วมกันสนับสนุน SMEs อย่างครบวงจรต่อไป
เคาะ (ร่าง) แผนแม่บทปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
กระทรวง อว. โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สอวช. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และเครือข่าย University AI Consortium ได้ร่วมกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาและดำเนินการจัดทำ “(ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ระยะ 7 ปี (พ.ศ. 2564 – 2570)” ซึ่งเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบแผน
ดังกล่าว และชุดโครงการระยะเร่งด่วน (ระยะที่ 1: พ.ศ 2564 - 2565) ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทยแล้ว โดยแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติฯ มีวิสัยทัศน์ คือ "ประเทศไทยจะเป็นประเทศชั้นนำในการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนภายในปี พ.ศ. 2570” โดยประกอบไปด้วย 3 เป้าประสงค์ 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในด้านสังคม จริยธรรม กฎหมาย และกฎระเบียบสำหรับการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุนด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเพิ่มศักยภาพบุคลากรและการพัฒนาการศึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และยุทธศาสตร์ที่ 5 การส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและระบบปัญญาประดิษฐ์ในภาครัฐและภาคเอกชน
โดยการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 (เริ่มดำเนินการ พ.ศ 2564 – 2565) มุ่งเน้นโครงการนำร่องด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศ เช่น การสร้างแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมาภิบาลข้อมูลเพื่อการประยุกต์ใช้ในด้านปัญญาประดิษฐ์ การเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลและคำนวณสำหรับปัญญาประดิษฐ์ การเตรียมพร้อมกำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์ และส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ การพัฒนาเทคโนโลยีและประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์นำร่องใน 3 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ด้านการแพทย์และสุขภาวะ การเกษตรและอาหาร และการใช้งานและบริการภาครัฐ ส่วนในระยะที่ 2 (พ.ศ 2566 – 2570) มุ่งเน้นการผลักดัน ขยายผลการประยุกต์ใช้งานกลุ่มเป้าหมายเพื่อสร้างระบบนิเวศปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทย โดยเป็นการขยายผลไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เหลือทั้งหมดเพื่อสร้างระบบนิเวศปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทย