ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
ซินโครตรอน กระทรวง อว. เป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิศวกรรมขั้นสูงครั้งที่ 6 ตั้งเป้าพัฒนากล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราดโดยคนไทย
23 มี.ค. 2568
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดบ้านเป็นเจ้าภาพจัดงาน Advanced Engineering Workshop ครั้งที่ 6 รวมผู้เชี่ยวชาญจาก 10 หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมขั้นสูงจากแต่ละหน่วยงาน สู่การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ชูเป้าหมายร่วมเดินหน้าพัฒนากล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราดโดยคนไทย 
 
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จ.นครราชสีมา เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง ครั้งที่ 6 (6th Advanced Engineering Workshop) ระหว่าง วันที่ 20 – 21 มีนาคม 2568 ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จ.นครราชสีมา โดยความร่วมมือกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน), สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง โดยเวียนการเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมขึ้นประจำทุกปี
 
 
สำหรับปีนี้ยังมีผู้เข้าร่วมประชุมจาก สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน),  สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย, ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ และอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 รวมกว่า 500 คน 
 
นายสำเริง ด้วงนิล รองผู้อำนวยการสนับสนุนเทคนิคและวิศวกรรม สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน และประธานคณะทำงานจัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง ครั้งที่ 6 กล่าวว่า “การประชุมครั้งนี้เป็นเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง สร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากร เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ และแนวทางการประยุกต์ใช้ของงานวิศวกรรมในอนาคต”  
 
“ผู้เข้าร่วมจะได้ทำกิจกรรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับเทคโนโลยีขั้นสูง ได้แก่ เครื่องเร่งอนุภาคสำหรับเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน เครื่องเร่งอนุภาคเชิงเส้น การทดลองเพื่อประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอน ระบบสุญญากาศ เทคโนโลยีการเคลือบฟิล์มบาง ระบบแม่เหล็กสำหรับเครื่องเร่งอนุภาค ระบบความเย็นยิ่งยวด ปฏิบัติการด้านการเชื่อมและควบคุมคุณภาพ และการศึกษาพลศาสตร์ของไหลแม่เหล็กของพลาสมาในเครื่องโทคาแมก เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมชมการดำเนินงานสถาบันฯ เช่น การพัฒนาปั๊มสุญญากาศระดับยิ่งยวดชนิดไอออน ห้องปฏิบัติการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเครื่องเร่งอนุภาค ห้องพัฒนาต้นแบบอุปกรณ์ทัศนศาสตร์ เป็นต้น” 
 
“การประชุมครั้งนี้ยังแสดงความก้าวหน้าในการพัฒนากล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด สำหรับศึกษาพื้นผิวของตัวอย่างทางชีวภาพและวัสดุศาสตร์ในรูปแบบภาพ 3 มิติ โดยมีจุดเริ่มต้นจากการเสนอแนวคิดในการร่วมกันพัฒนาเครื่องมือวิทยาศาสตร์ขั้นสูงดังกล่าวมาตั้งแต่การประชุม Advanced Engineering Workshop ครั้งที่ 2 ปัจจุบันมีการพัฒนาชิ้นส่วนที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง อาทิ ปืนอิเล็กตรอน ชุดเลนส์รวมแสง อุปกรณ์ตรวจวัดอิเล็กตรอน ปั๊มสุญญากาศ อุปกรณ์สุญญากาศ และซอฟท์แวร์ประมวลภาพ โครงการนี้จึงเป็นตัวอย่างสำคัญ ในการระดมความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง เพื่อพัฒนาเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศต่อไป” รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนกล่าว
 
สมพล พัฒนคุณานนท์ จ.นครราชสีมา  กัมปนาท ฉายผาด ผช. รายงาน
หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 เมษายน 2568
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
13 ม.ค. 2568
ตามรายงานของศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์ (thaibizsingapore.com) ระบุว่า สิงคโปร์เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 8 ของไทย และไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 10 ของสิงคโปร์ จากสถิติของกระทรวงพาณิชย์และกรมศุลกากร ปริมาณการค้าไทย-สิงคโปร์ ปี 2565 มีมูลค่ารวม 644,383 ...