พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ลงนามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 37) ด้วยได้มีการประกาศใช้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 โดยจำเป็นต้องยกระดับความเข้มข้นของมาตรการและการบังคับใช้อย่างจริงจังเพิ่มเติมขึ้นจากข้อกำหนดที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า เพื่อเร่งแก้ไขและบรรเทาสถานการณ์ฉุกเฉินให้คลี่คลายลงโดยเร็วที่สุด โดยการกำหนดมาตรการที่จำเป็นและต้องเร่งดำเนินการโดยด่วน เพื่อลดการออกนอกเคหสถานของประชาชนอันเป็นเหตุให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ของโรคติดเชื้อโควิด – 19 โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล และจังหวัดที่ได้กำหนดเป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น และโดยส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อโรคกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลต้าที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตและสุขภาพ โดยเฉพาะบุคคลกลุ่มเสี่ยงทั้งผู้สูงอายและผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่แม้บุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วมักจะอยู่ประจำในที่พำนัก แต่ประวัติการสัมผัสเชื้อมักเกิดขึ้นในครอบครัว
โดยการติดต่อสัมผัสกับบุคคลที่ได้มีการเดินทาง ซึ่งจากข้อมูลพบว่าการติดเชื้อและแพร่ระบาดในครอบครัวและเขตชุมชนใกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีอัตราเพิ่มจำนวนขึ้นสูงมาก แม้จะได้มีการเร่งฉีดวัคซีนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่แล้วก็ตามแต่ย่อมต้องอาศัยระยะเวลาเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ไม่อาจเกิดขึ้นโดยเร็ว สิ่งที่ต้องร่วมมือกันในเวลานี้ คือ ชะลออัตราการระบาดที่รุนแรงของโรค โดยต้องหยุดยั้งการกระทำใดๆ ก็ตาม ที่เป็นความเสี่ยงหรือเป็นเหตุให้เชื้อโรคแพร่ระบาดออกไป โดยให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อเพื่อมีคำสั่งปิดสถานที่หรือกิจการที่มีความเสี่ยงเพื่อประโยชน์ในการควบคุมและป้องกันการแพร่ของโรคติดเชื้อ โควิด – 19 โดยให้ดำเนินการต่อเนื่องอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 14 วัน
ดังนั้น เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดดังกล่าว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 (1)แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2548 ประกอบกับข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตามมติที่ประชุม ครั้งที่ 22/2564 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้ 1.ให้ปิดสถานที่ที่ระบุไว้ในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่ เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 32) ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2564 (ฉบับที่ 33) ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2564 (ฉบับที่ 34) ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2564(ฉบับที่ 35) ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 และ (ฉบับที่ 36) ลงวันที่ 10- กรกฎาคม และตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 โดยสำหรับการให้บริการตามข้อ 2 ถึงข้อ 6 ให้เปิดดำเนินการได้เฉพาะภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบและมาตรการป้องกันโรคที่กำหนดที่เข้มงวดยิ่งขึ้นจากที่ได้เคยกำหนดไว้แล้ว
2.การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้เปิดดำเนินการได้ จนถึงเวลา 20.00 นาฬิกา โดยห้ามการบริโภคในร้าน และให้ดำเนินการเฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น 3.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันให้เปิดให้บริการได้เฉพาะแผนกซุปเปอร์มาร์เก็ต แผนกยาและเวชภัณฑ์ พื้นที่ซึ่งจัดให้เป็นการให้บริการฉีดวัคซีนหรือบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขอื่น ๆ ของภาครัฐ โดยให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 นาฬิกา 4.โรงแรม ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติ โดยให้งดกิจกรรมจัดการประชุม การสัมมนาหรือการจัดเลี้ยง 5.ร้านสะดวกซื้อ และตลาดสด ให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 นาฬิกา โดยจำกัดเวลา สำหรับร้านสะดวกซื้อซึ่งตามปกติเปิดให้บริการในช่วงเวลากลางคืน ให้ปิดให้บริการในระหว่างเวลา 20.00 นาฬิกาถึง 04.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น 6. โรงเรียน สถาบันการศึกษาหรือฝึกอบรม และสถานศึกษาต่าง ๆ ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้
สำหรับการดำเนินการของโรงพยาบาล สถานพยาบาล คลินิกแพทย์รักษาโรค ร้านขายยา ร้านค้าทั่วไป โรงงาน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกรรมการเงิน ธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ไปรษณีย์และพัสดุภัณฑ์ ร้านจำหน่ายอาหารสัตว์ ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ร้านจำหน่ายเครื่องมือช่างและอุปกรณ์ก่สร้าง จำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ดอันจำเป็น สถานที่จำหน่ายแก๊สหุงต้ม เชื้อเพลิง ปั๊มน้ำมัน ปั๊มแก๊ส ตลาดนัด(เฉพาะส่วนที่จำหน่ายอาหารและวัตถุดิบเพื่อการบริโภค สถานรับเลี้ยงเด็ก (เฉพาะสถานที่รับเลี้ยงเต็กในโรงพยาบาลและที่มีการรับตัวไว้พักค้างคืนเป็นปกติธุระ) สถานดูแลผู้สูงอายุ (เฉพาะที่มีการรับตัวไว้พักค้างคืนเป็นปกติธุระ) ธุรกิจประกันภัย หน่วยบริการงานช่วยเหลือกู้ภัย ศูนย์บริการหรือร้านซ่อมแซมยานพาหนะ ร้านแบตเตอรี่ หน่วยบริการตรวจสอบหรือซ่อมบำรุงระบบสาธารณูปโภค ระบบระบายน้ำ ระบบท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ผู้จัดเก็บและกำจัดขยะ รวมทั้งบริการส่งสินค้าและอาหารตามสั่ง (delivery online) ยังคงเปิดดำเนินการได้ตามความจำเป็น โดยให้ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัโรคติดต่อ พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตาม มาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,00 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 จนถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2564 หรือจนกว่าจะมี
ประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
ประกาศ ณ วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2564