ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวา ครั้งที่ 2/2564 โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นผู้แทนกรมชลประทานเข้าร่วมประชุม ผ่านระบบ Video Conference
สำหรับผลการดำเนินงานกำจัดผักตบชวาและวัชพืช ในส่วนของกรมชลประทาน ได้ดำเนินการกำจัดวัชพืชในทางน้ำชลประทานและทางน้ำสายหลัก บริเวณแม่น้ำท่าจีน เหนือเขื่อนเจ้าพระยารวมทั้งแม่น้ำน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำนครนายก และแม่น้ำบางประกง ซึ่งที่ผ่านมากรมชลประทานได้ระดมเครื่องจักร เครื่องมือ สำหรับปฏิบัติงานกำจัดผักตบชวาและวัชพืช จำนวน 60 คัน ประกอบด้วย รถขุดตีนตะขาบ 18 คัน เรือขุดแบบปูตัก 17 คัน เรือกำจัดวัชพืช 9 คัน และเรือกำจัดวัชพืชขนาดเล็ก (เรือนวัตกรรม) 16 คัน เป็นต้น ซึ่งจากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมของ GISTDA (ครั้งที่ 1) เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2564 พบว่ามีวัชพืชที่อยู่ในเขตรับผิดชอบของกรมชลประทานจำนวน 184 จุด มีแผนการดำเนินงาน 79,724 ตัน ตรวจพบจริง 108,527 ตัน
ปัจจุบันดำเนินการกำจัดผักตบชวาไปแล้ว 60,444 ตัน และข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมของ GISTDA (ตรวจพบเพิ่มเติม) เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา พบว่ามีวัชพืชที่อยู่ในเขตรับผิดชอบของกรมชลประทานจำนวน 1,203 จุด มีแผนการดำเนินงาน 594,348 ตัน ตรวจพบจริง 487,741 ตัน ปัจจุบันดำเนินการกำจัดผักตบชวาไปแล้ว 53,628 ตัน ทั้งนี้กรมชลประทาน จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกลางเดือนสิงหาคม 2564 นี้
ทั้งนี้กรมชลประทาน ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาผักตบชวา โดยบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้วยการวางมาตรการแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้การดำเนินงานมีความต่อเนื่องและเป็นระบบแบบแผนที่ชัดเจน ภายใต้สโลแกน “หยุด เก็บ บ่อย” โดยทำการติดตั้ง Log boom (ทุ่น) เพื่อดักหรือหยุดผักตบชวาและวัชพืชไม่ให้ไหลไปตามแม่น้ำลำคลอง ทำให้ง่ายต่อการจัดเก็บ นำเครื่องจักรกลขนาดใหญ่เข้าดำเนินการจัดเก็บวัชพืชที่ไหลเข้ามาสะสมในแม่น้ำและทางน้ำชลประทานสายต่างๆ พร้อมทั้งจัดรอบเวรเก็บเล็กอย่างต่อเนื่อง โดยใช้เรือนวัตกรรมกำจัดวัชพืชขนาดเล็ก เพื่อเป็นการป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนลดผลกระทบกับประชาชนให้ได้มากที่สุด และติดตั้งป้ายแสดงชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของผู้รับผิดชอบ ในการกำจัดผักตบชวาและวัชพืช ไว้ที่อาคารชลประทาน และทางน้ำชลประทานที่มีความเสี่ยงต่อการสะสมของผักตบชวา เพื่อให้ประชาชนที่พบเห็นได้ สามารถแจ้งให้หน่วยงานชลประทานในพื้นที่เข้าไปทำการจัดเก็บได้อย่างทันท่วงที หรือสามารถแจ้งผ่านช่องทางสื่อสารสังคมออนไลน์ Page Facebook “กรมชลประทาน” หรือสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา