สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดประชุมคณะกรรมการอํานวยการ สอวช. ครั้งที่ 5/2564 ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และผ่านระบบออนไลน์ โดยมี ศาสตราจารยพิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธานการประชุม
ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ได้เปิดเผยรายละเอียด กรอบแผนการดำเนินงานของ สอวช. ปีงบประมาณ 2565 ว่า สอวช. ได้ออกแบบการดำเนินงานที่สำคัญเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายที่สำคัญของการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (อววน.) โดยแบ่งเป็น 4 ภารกิจหลัก ประกอบด้วย 1) นโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. และการปฏิรูประบบ โดยเน้นการปฏิรูประบบ อววน. อย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาและเติมเต็มระบบนิเวศนวัตกรรม ส่งเสริมให้แผนด้านการอุดมศึกษา และด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีทิศทางและดำเนินงานอย่างบูรณาการและมีเอกภาพ โดยเชื่อว่านโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. และการปฏิรูประบบที่ดีจะนำไปสู่เป้าหมายสำคัญในอีก 7 ปีข้างหน้า เช่น การลงทุนวิจัยและพัฒนาเพิ่มเป็นร้อยละ 2 ต่อจีดีพี (ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 1.14 ต่อจีดีพี) การเพิ่มขีดความสามารถทาง อววน. ทัดเทียมประเทศที่มีความก้าวหน้า อย่างไต้หวัน สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ รวมถึงเป้าหมายเพิ่มจำนวนสิทธิบัตรเป็น 20 ฉบับต่อประชากร 1 แสนคน 2) ออกแบบกลไกและมาตรการส่งเสริมการพัฒนา อววน. โดยเน้นพัฒนาและใช้ประโยชน์จากกลไกล อววน. เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจนวัตกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว เสริมความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจฐานราก และส่งเสริมด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ โดยมีเป้าหมายในอีก 7 ปีข้างหน้า คือ เพิ่มจำนวนผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมที่สร้างรายได้ 1,000 ล้านบาท/ปี จำนวน 1,000 ราย ยกระดับคนจนใน 10 จังหวัดเป้าหมายให้พ้นเส้นความยากจน ตลอดจนเกิดระบบความรู้ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปศาสตร์ที่เข็มแข็ง ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ปัญหาความต้องการของสังคม
3) นโยบายการพัฒนากำลังคน เน้นการยกระดับทักษะบุคลากรผ่านการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและกลไก Upskill/Reskill/New Skill Framework การวางแผนการผลิตกำลังคนเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้งานและรองรับเป้าหมายการพัฒนาประเทศ รวมถึงส่งเสริมการยกระดับศักยภาพระบบการอุดมศึกษา โดยมีเป้าหมายในอีก 7 ปีข้างหน้า ในการสร้างกำลังคน STEM ให้ได้ร้อยละ 65 ของผู้จบการศึกษาทั้งหมด มีมหาวิทยาลัยไทยติด 200 อันดับแรก ของ World University Ranking เกิด Talent Hub Megaproject ที่ดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพ 10,000 คน ตลอดจนคนในประเทศทุกกลุ่มเข้าถึงการเรียนรู้ที่มีคุณภาพได้ทุกช่วงวัย ทุกที่ ทุกเวลาและทุกฐานะ เพื่อตอบโจทย์ให้ทันการเปลี่ยนแปลง รวมถึงสร้างผลิตภาพแรงงานของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น 4) สร้างความเข้มแข็งของกระบวนการนโยบาย เพื่อวางรากฐานในการวิเคราะห์และพัฒนานโยบายผ่านการสั่งสมองค์ความรู้และทักษะ เพื่อให้กระบวนการจัดทำนโยบายมีความแม่นยำและ
หวังผลสำเร็จได้ ภายใต้การดำเนินงาน 5 ด้าน คือ แพลตฟอร์มความร่วมมือเพื่อการออกแบบนโยบายแบบเร่งรัด (THIPA) งานด้านคาดการณ์ภาพอนาคต (Foresight) งานด้านวิจัยเชิงระบบ งานระบบการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสะท้อนขีดความสามารถและวิเคราะห์ผลประเมินด้าน อววน. รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งของกระบวนการนโยบายด้วยการสร้างความร่วมมือด้านต่างประเทศ
ในส่วนการดำเนินงานปีงบประมาณ 2564 ของ สอวช. มีหลายโครงการที่ได้ดำเนินการไปแล้ว อาทิเช่น โครงการพัฒนาทักษะเพื่อการจ้างงานตามความต้องการของประเทศ โดย GenNX Model ซึ่งทำงานร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวง อว.และองค์กร Generation ในการปรับระบบการพัฒนาทักษะของนักศึกษามหาวิทยาลัย ที่เรียนจบออกมาไม่ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม หรือจบมาแล้วไม่มีงานทำ หรือมีทักษะไม่เพียงพอ ผ่านการสร้างแนวทางในการจับคู่ผู้ประกอบการเข้ามาร่วมพัฒนาทักษะนักศึกษา และเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยกับผู้ประกอบการ, การจัดทำข้อเสนอกลไกการปลดล็อคนักเรียนทุนให้สามารถไปปฏิบัติงานในภาคเอกชนได้ โดยความร่วมมือกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สนับสนุนนักเรียนทุนที่เพิ่งจบการศึกษาและยังไม่มีงานทำ ให้เข้าไปทำงานในภาคเอกชน โดยมี ส.อ.ท. ช่วยดูแลเป็นพี่เลี้ยงให้, แพลตฟอร์มการใช้ประโยชน์กำลังคนที่มีศักยภาพสูงของประเทศ (Talent Utilization Platform for National Talent Pool) โดยร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ฯ กระทรวงแรงงาน คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงานและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในการทำ Talent Pool ของประเทศ โดยได้ออกแบบและขึ้นรูปแพลตฟอร์มที่มีข้อมูลเกี่ยวกับบุคลากรภาครัฐ และมีกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์เป็นภาคเอกชนในการเชื่อมต่อการทำงานร่วมกัน, ข้อเสนอกองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม (Innovation Fund) โดยทาง สอวช. และ ส.อ.ท. ได้ออกแบบกองทุนขึ้นมาเพื่อส่งเสริมกลุ่ม SME ซึ่งจะมีเงินเข้ามาในกองทุนโดยการระดมทุนจากบริษัทใหญ่ รวมถึงการทำ Matching Fund จากกองทุน ววน. ผ่านการบริหารงานโดย ส.อ.ท. ที่เป็นภาคเอกชน ในลักษณะเป็นมูลนิธิและให้ทุนกับ SME เพื่อไปทำนวัตกรรม และเชื่อมโยงไปที่ภาคมหาวิทยาลัยในการสนับสนุนนักวิจัยเข้าไปทำงาน
นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินงานผลักดันให้เกิดข้อเสนอการใช้มหาวิทยาลัยเป็นขั้วความเจริญเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ (University as a Marketplace) โดยท่านรัฐมนตรี เอนก ได้มีการประกาศเป็นนโยบายไปยังมหาวิทยาลัยที่จะเป็นแหล่งซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภคในชุมชน จัดทำตลาดให้สินค้าชุมชน ทั้งออนไลน์และในพื้นที่ ในส่วนของการส่งเสริมมหาวิทยาลัยยังได้มีการจัดทำแนวทางการจัดตั้ง Holding Company ในมหาวิทยาลัย เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถนำเงินรายได้ไปร่วมลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมได้ ด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน สอวช. ได้จัดทำสมุดปกขาวการพัฒนาระบบเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนขึ้น เพื่อให้เห็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศ โดยพัฒนาเป็นโปรแกรมปักหมุด (Anchor Programs) เพื่อเป็นจุดตั้งต้นในการสร้างระบบนิเวศการทำงานที่พร้อมรองรับผู้เล่นในระบบ ซึ่งได้มีการส่งต่อไปยังหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เพื่อจัดสรรทุนโครงการวิจัยด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้ว
อย่างไรก็ตาม สอวช. ยังคงมุ่งมั่นและปฏิบัติหน้าที่ในการเป็นหน่วยงานริเริ่มเชิงนโยบาย ผ่านการร่วมมือกับพันธมิตรทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคม เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถส่งต่อนโยบาย มาตรการ หรือกลไกต่างๆ ไปสู่หน่วยงานปฏิบัติให้สามารถขับเคลื่อนและส่งมอบผลงานให้กับประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งตอบโจทย์ความต้องการของประเทศได้อย่างแท้จริงและเชื่อมั่นว่า สอวช. จะสามารถนำศักยภาพด้าน อววน. ส่งมอบอนาคตประเทศไทย สร้างโอกาสใหม่ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม