นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ตามที่ประชาชนมีความกังวลว่าผู้ประกอบการจะปรับขึ้นราคาสินค้า หลังจากมีการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งกรมการค้าภายในได้มีการวิเคราะห์ต้นทุนและยืนยันว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อต้นทุนและราคาสินค้าน้อยมาก จึงไม่ใช่เหตุผลที่ผู้ประกอบการจะปรับราคาสินค้า รวมทั้งการจะขอปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นมีขั้นตอนที่กรมการค้าภายในจะต้องพิจารณา ไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้ทันที กรมการค้าภายในจะดูแลราคาสินค้าให้เป็นธรรม มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่แท้จริง ปริมาณสินค้ามีเพียงพอไม่ขาดแคลน มีปริมาณครบถ้วนถูกต้อง และไม่ให้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าหรือกักตุนสินค้า จะเข้มงวดในการดูแลทั้งต้นทางและปลายทาง โดยใช้มาตรการทางกฎหมาย มาตรการบริหาร และมาตรการเสริม รวมทั้งมีการกำหนดสินค้าควบคุมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ซึ่งในปี 2559 ได้กำหนดสินค้าและบริการควบคุม 45 รายการ แบ่งเป็นสินค้า 42 รายการ บริการ 3 รายการ และสินค้าติดตามดูแล 205 รายการ ซึ่งได้มีการติดตามดูแลต้นทุนและราคาอย่างใกล้ชิดให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุน
ทั้งนี้ การดูแลราคาสินค้า แบ่งสินค้าเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) สินค้าควบคุมที่ต้องขออนุญาตเปลี่ยนแปลงราคา ได้แก่ นมผง นมสด อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท อาหารกึ่งสำเร็จรูปบรรจุภาชนะผนึก เหล็กแผ่นเคลือบดีบุกและเคลือบโครเมียม ปุ๋ยเคมี ยาป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืช 2) สินค้าควบคุมที่ต้องแจ้งต้นทุนให้ทราบก่อนเปลี่ยนแปลงราคา ได้แก่ นมข้นหวาน ผงซักฟอก กระดาษชำระ ปูนซีเมนต์ สายไฟฟ้า แบตเตอรี่รถยนต์ ยางรถยนต์ เป็นต้น 3) สินค้ากำกับดูแล 205 รายการ นอกเหนือจากสินค้าควบคุมที่มีมาตรการกำกับไว้ได้มีการติดตามดูแลต้นทุนและราคาอย่างใกล้ชิดให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุน และขอความร่วมมือแจ้งราคาจำหน่ายก่อนเปลี่ยนราคา ได้แก่ ข้าวสารบรรจุถุง น้ำมันพืช น้ำปลา สบู่ ยาสีฟัน แชมพู สังกะสี ไม้อัด เป็นต้น ซึ่งกรมการค้าภายในจะพิจารณาการปรับราคาสินค้า โดยใช้หลักราคาต้องสมเหตุสมผล (Justifiability) ราคาเป็นธรรม (Fairness) ไม่เป็นภาระต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคมากเกินควร และแบบค่อยเป็นค่อยไป (Graduality) เพื่อบรรเทาภาระของผู้บริโภค