นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ กพศ. ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 64 ซึ่งประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมีสาระสำคัญ คือ กพศ.ได้มีมติเห็นชอบในหลักการการกำหนดพื้นที่และแนวทางการให้สิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค
ประกอบด้วย ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และหนองคาย, ภาคกลาง-ตะวันตก ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี และภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์ กำหนดพื้นที่ และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ พิจารณากำหนดขอบเขตพื้นที่ของแต่ละระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ กิจการเป้าหมาย และสิทธิประโยชน์ แล้วนำเสนอ กพศ.ต่อไป
ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้จังหวัดที่อยู่ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษของทั้ง 4 ภาค ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ พิจารณาจัดตั้งกลไกการบริหารจัดการในระดับพื้นที่ เพื่อประสานการขับเคลื่อนการพัฒนาให้เป็นไปตามนโยบายของ กพศ.ต่อไป
นอกจากนี้ กพศ.ยังได้พิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 แห่ง ได้แก่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก สงขลา สระแก้ว ตราด หนองคาย นครพนม มุกดาหาร เชียงราย กาญจนบุรี และนราธิวาส โดยแนวทางการดำเนินงานจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่
เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาและเชื่อมโยงฐานการผลิตและบริการกับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ การจูงใจให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและการบริหารจัดการแรงงานและผู้ประกอบการ โดยจะจัดตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานเพื่อดำเนินการในด้านต่างๆ เช่น ด้านสิทธิประโยชน์ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น
ทั้งนี้ ที่ประชุม กพศ. ได้เห็นชอบให้เทศบาลตำบลสำนักขาม ใช้พื้นที่ประมาณ 19 ไร่ ในที่ราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลาของแปลงที่จะจัดให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เช่า (แปลงที่ 2) เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างถนนเชื่อมโยงโครงการนิคมอุตสาหกรรมสงขลากับด่านศุลกากรสะเดา แห่งที่ 2 พร้อมทั้งเห็นชอบให้เปิดประมูลสรรหาผู้ได้รับสิทธิพัฒนาในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก และมอบหมายให้กรมธนารักษ์ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องครม.