นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวถึงการบริหารจัดการในการแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 โดยใช้ระบบราชการรวมศูนย์ ว่า กำลังจะทำให้คนไทยตาย เพราะแม้หลายเรื่อง นโยบายออกมาแล้ว แต่ในความเป็นจริงประชาชนก็ยังเข้าไม่ถึงผลลัพธ์ของทางออกดังกล่าวเลย การรวมศูนย์อำนาจทำการแก้ปัญหาให้อุ้ยอ้าย ล่าช้า และสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ช้าไปวันสองวันอาจมีผลถึงชีวิตได้
ซึ่งที่ผ่านมา พรรคกล้าพยายามผลักดันมาอย่างน้อย 2 เดือนให้รัฐบาล “ปลดล็อกระบบราชการรวมศูนย์” มาแล้วหลายเรื่อง ตั้งแต่การยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงท่านนายกฯ ไปจนถึงข้อเสนออื่นๆ ซึ่งตระหนักดีว่า หลายข้อทำแล้ว แต่ผลยังไม่ปรากฏชัดในภาคปฏิบัติ ได้แก่
1. ปลดล็อก การเข้าถึงยาฟาวิพิราเวียร์
2. ปลดล็อก ระบบการตรวจโควิดด้วย Antigen test แทนคอขวด PCR
3. ปลดล็อก ระบบ Home Isolation
แทนที่รัฐบาลจะแก้ปัญหาทีละปม ซึ่งช้าเกินไปมาก รัฐบาลต้อง "โอนอำนาจหน้าที่ดูแลประชาชนลงไปในระดับท้องถิ่นโดยด่วน" ซึ่งคำว่า ‘ท้องถิ่น’ นี้ไม่ได้หมายความเพียงแค่สั่งงานไปให้ผู้ว่าฯ แต่ต้องลงไปถึงระดับ อปท. เลย เขาใกล้ปัญหามากกว่า ใกล้ประชาชนมากกว่า และงบประมาณก็มีในมือ วิธีการทางกฎหมายที่จะทำได้คือ การออกพระราชกำหนดเร่งด่วน ซึ่งคือ
4. ออก พ.ร.ก.ปลดล็อก เงื่อนไขอุปสรรคทางราชการเพื่อแก้วิกฤติโควิด
มองง่ายๆ คือ ทุกศูนย์ตรวจ Rapid Antigen Test ในทุกพื้นที่ เมื่อตรวจพบเชื้อ เขาควรมีสิทธิมอบ ‘กล่องรักษาโควิด’ ถึงมือผู้มีผลติดเชื้อได้ทันที ในกล่องนี้ ควรมีทั้งยารักษาอาการต่างๆ สมุนไพรไทย และยา Favipiravia พร้อมอุปกรณ์วัดไข้และวัดออกซิเจน แต่วันนี้กลับต้องรอส่วนกลางเป็นผู้มาตามแจก ช้าก็ช้า มาถึงก็ต้องแจกทีละบ้าน ขอความร่วมมือจากท้องถิ่นอยู่ดีว่าบ้านผู้ป่วยอยู่ไหน
แม้แต่ระบบการฉีดวัคซีน ภาพความแออัดที่ปรากฏที่บางซื่อนั้นสะเทือนใจทุกคนที่เห็นมาก นอกจากระบบจัดคิว ทำไมรัฐบาลไม่กระจายการฉีดลงไปให้เขต หรือแม้แต่เอกชนดูแล หรือเป็นเพราะการเมืองระหว่างพรรคยังเป็นอุปสรรค
5. ปลดล็อก ระบบจัดการคิววัคซีนให้เอกชนบริหารจัดการ
ลองดูสถิติการฉีดวัคซีน วันธรรมดาฉีดได้ 300,000 เข็มหรือมากกว่า พอวันหยุดเสาร์อาทิตย์ลดลงเหลือวันละ 80,000! ถ้าราชการไม่ไหว วันหยุดต้องพัก ก็ควรเปิดให้คนอื่นเข้ามาช่วย นี่คือ สงครามโรคระบาด และเป็นสงครามที่ข้าศึกโควิดไม่พักรบตามเวลาราชการ
หัวหน้าพรรคกล้า เน้นย้ำว่า ทั้ง 5 ข้อนี้จะปลดล็อกให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด รัฐต้องนำเทคโนโลยีและ Data Management มาใช้ในทุกขั้นตอนต่อจากนี้ เพื่อให้ทันต่อการรับมือวิกฤติโดยเร็วที่สุด