นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ฉบับที่ 5/2564 เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าประเทศไทยจะมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ในช่วงวันที่ 28 กรกฎาคม -3 สิงหาคม 2564 จากอิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทยตอนบน และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรง และพายุโซนร้อน “เจิมปากา” ที่ผ่านมา ซึ่งจากการติดตามประเมินสถานการณ์ในแม่น้ำสายต่างๆ พบว่าระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จึงสั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
พร้อมกับกำชับให้ตรวจสอบสภาพอาคารชลประทานให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ เร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อเตรียมรับมือและป้องกันน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ชุมชน ตามมาตรการป้องกันเหตุที่ได้กำหนดไว้ รวมไปถึงการกำหนดพื้นที่เสี่ยง และกำหนดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบประจำจุด เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัยได้อย่างรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์
สำหรับปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่ทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ยังมีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย จึงสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งกรมชลประทาน จะเน้นเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุดก่อนสิ้นสุดฤดูฝน โดยไม่กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯ เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ฤดูแล้งหน้าอย่างเพียงพอ
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า แม้ว่าไม่ได้กระทบต่อประเทศไทยโดยตรง แต่ทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ซึ่งนับว่าส่งผลดีทำให้มีน้ำไหลลงแหล่งน้ำเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ กอนช. ได้ติดตามปริมาณน้ำที่ไหลเข้าแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่งทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำไหลเข้าจริง จำนวน 2,032.05 ล้าน ลบ.ม.
ซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 197.58 ล้าน ลบ.ม. แบ่งออกเป็น ภาคเหนือ ปริมาณน้ำไหลเข้าจริง 378.26 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ 70.25 ล้าน ลบ.ม. ภาคกลาง ปริมาณน้ำไหลเข้าจริง 6.58 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ 6.69 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปริมาณน้ำไหลเข้าจริง 277.40 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ 51.84 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออก ปริมาณน้ำไหลเข้าจริง 51.55 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ 10.85 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันตก ปริมาณน้ำไหลเข้าจริง 1,261.49 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ 344.88 ล้าน ลบ.ม. ภาคใต้ ปริมาณน้ำไหลเข้าจริง 56.77 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ 29.36 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบภาคที่มีปริมาณน้ำไหลเข้ามากขึ้นจากน้ำต้นทุนช่วงต้นฤดู ณ 1 พ.ค. 64 ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก ซึ่งปริมาณน้ำที่ไหลเข้าจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “เจิมปากา” นี้ เป็นประโยชน์อย่างมากในการช่วยเติมน้ำต้นทุนให้แก่อ่างเก็บน้ำหลายแห่งที่อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังน้ำน้อย ส่งผลให้สถานการณ์ดีขึ้น โดยเฉพาะเขื่อนวชิราลงกรณที่มีน้ำไหลเข้ามากที่สุดถึง 894.74 ล้าน ลบ.ม. จากเมื่อต้นฤดูซึ่งมีปริมาณน้ำต้นทุนเพียง 3,733.67 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบัน (27 ก.ค. 64) มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 4,427.83 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 49.98 ของความจุทั้งหมด หรือเพิ่มขึ้นจากเดิม 694.16 ล้าน ลบ.ม.
ส่งผลให้ปัจจุบันระดับน้ำกลับเข้าสู่เกณฑ์ปกติแล้ว นอกจากนี้ยังมีอ่างเก็บน้ำเฝ้าระวังน้ำน้อยอื่น ๆ ที่มีน้ำไหลเข้าจำนวนมาก ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์ มีน้ำไหลเข้า 325.58 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนภูมิพล มีน้ำไหลเข้า 153.54 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำไหลเข้า 129.01 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งทุกหน่วยงานภายใต้ กอนช. ได้ดำเนินการตามข้อสั่งการของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี โดยการเร่งเก็บกักน้ำไว้ให้ได้มากที่สุดเพื่อใช้เป็นน้ำต้นทุนสำหรับฤดูแล้งถัดไป
“แม้ว่าปริมาณน้ำที่ไหลเข้าแหล่งน้ำจากอิทธิพลของพายุเจิมปากาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ช่วยเพิ่มน้ำต้นทุนให้แก่แหล่งน้ำหลายแห่งที่อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังน้ำน้อย แต่ก็ยังมีพื้นที่โดยเฉพาะลำน้ำสายหลักที่มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ซึ่ง กอนช.เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของแหล่งน้ำทุกแห่งอย่างใกล้ชิด เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะนี้ด้วย
พร้อมกันนี้ ยังได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวังปัญหาอุทกภัยที่อาจะเกิดขึ้นในพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก-น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันออก ช่วงระหว่างวันที่ 28 ก.ค. – 3 ส.ค.นี้ ตามประกาศ กอนช.ฉบับล่าสุด (ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 27 ก.ค. 64) รวมถึงพื้นที่ที่ยังประสบปัญหาน้ำท่วมหลาก น้ำท่วมขัง และน้ำล้นตลิ่ง บริเวณภาคเหนือตอนล่าง และอีสานตอนบน ให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว”