นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ด้วยมีนายประสิทธิ์ สุขา และนายนคร คันธอุลิส ซึ่งเป็นผู้อ้างการครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินในใจกลางพื้นที่เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี จ.ระยอง ว่าได้รับความเดือดร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(หาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากไม่สามารถเข้าไปเดินสำรวจรังวัดปักหลักเขตที่ดิน เพื่อขอออกโฉนดที่ดินของตนเองได้
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากผู้ร้องทั้งสองเป็นทายาทหรือผู้จัดการมรดกของเจ้าของที่ดินเดิมซึ่ง ปัจจุบันอยู่ใจกลางพื้นที่เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี ต.บ้านแลง อ.เมือง จ.ระยอง มีจำนวน 22 ไร่ ที่ดินแปลงดังกล่าวเจ้าของที่ดินเดิมได้ยึดถือครอบครองทำนามาตั้งแต่ปี 2486 ต่อมาประมาณปี 2518 ถึง 2521 มีบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด(TPI) ได้เข้ามากว้านซื้อที่ดินโดยรอบพื้นที่ดังกล่าวทั้งหมด โดยรวบรวมที่ดินได้นับพันไร่ในพื้นที่ 3 ตำบลคือ ต.เชิงเนิน ต.บ้านแลง และต.ตะพง แล้วนำไปขออกโฉนดที่ดินเป็นแปลงเดียวกันทั้งหมดเมื่อปี 2536 พร้อมกับนำไปยื่นขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศเป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรมเมื่อปี 2537 โดยผนวกเอาที่ดินแปลงดังกล่าวไปด้วย
เหตุดังกล่าวทำให้เจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าวไม่สามารถเข้าไปทำนาได้ดังเดิมได้อีก เพราะไม่มีทางเข้าถูกล้อมรอบพื้นที่ด้วยรั้วของเขตอุตสาหกรรมและถูกขัดขวาง แม้เจ้าของที่ดินเดิมจะพยายามร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องโดยมีสภาตำบลบ้านแลงก็ยืนยันว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของเจ้าของที่ดินเดิมแล้วก็ตาม ปัจจุบันทายาทหรือผู้จัดการมรดกของเจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าวได้ทำเรื่องขอเข้าไปรังวัดสอบเขตที่ดินแปลงดังกล่าว แต่เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซีไม่อนุญาตโดยบ่ายเบี่ยงมาโดยตลอดและอ้างว่าได้ยึดถือครอบครองมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2537 แล้ว ต่อมาทายาทได้ไปร้องเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อขอความเป็นธรรม และนายกฯได้บัญชาให้กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง ตรวจสอบและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้วก็ตาม แต่เรื่องดังกล่าวก็ยังเงียบอยู่
เรื่องนี้มีข้อพิรุธและเป็นกรณีที่น่าสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่าการที่มีผู้รวบรวมที่ดินนำไปให้ รมว.กระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรม ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2537) นั้น มีการตรวจสอบโดยละเอียดหรือไม่ว่า มีที่ดินของชาวบ้านจำนวน 22 ไร่ดังกล่าวอยู่ในเขตฯตามแผนที่ท้ายประกาศฉบับดังกล่าวด้วย ทำไมไม่มีการตรวจสอบและกันพื้นที่ดังกล่าวออกมาเสียก่อน หรือมีความพยายามที่จะปกปิดความจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ หรือมีการเอื้อประโยชน์ให้กันและกันของหน่วยงานราชการต่างๆที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับพื้นที่ไปจนถึงระดับประเทศ เรื่องนี้สมาคมฯจึงนำความไปร้องเรียนให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบว่ามีการตั้งเขตประกอบการอุตสาหกรรมขึ้นมาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และต้องกันพื้นที่ของชาวบ้านออกไปเสีย ตามครรลองของกฎหมาย และหลังจากนี้จะนำความไปร้อง ป.ป.ช.เอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด