เปิดผลงานศูนย์วิจัยและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน
ด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี ในสังกัดคณะวิศว ม.เกษตรฯ
ศูนย์วิจัยและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี https://www.researchforthailand.org/ชื่อนี้แม้จะดูยาวจนอาจยากต่อการจดจำ แต่หากได้รู้ว่า ศูนย์ฯ แห่งนี้ ทำอะไรบ้าง? อาจต้องหันมาจับตามอง เพราะศูนย์ฯ แห่งนี้ คือแหล่งของผู้เชี่ยวชาญและการผลิตผู้เชี่ยวชาญ ให้กับความก้าวหน้าในการอนุรักษ์พลังงานของไทย โดยมี ผศ.ดร.ประพจน์ ขุนทอง ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารศูนย์ฯ และมี ดร.ธิรินทร์ ณ ถลาง เป็นกรรมการบริหารศูนย์ฯ
ทั้งนิ้ ดร.ธิรินทร์ เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2560 อยู่ในสังกัดของภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำหรับการก่อตั้งศูนย์แห่งนี้ขึ้นมานั้น ก็เพื่อทำหน้าที่ดำเนินการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ รวมถึงการให้บริการทางด้านวิชาการในการให้คำปรึกษาแนะนำและฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้าน เพื่อช่วยขับเคลื่อนการเตรียมความพร้อมแก่ประชาชนอันเป็นรากฐานของประเทศให้สามารถปรับตัวรองรับกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดยการดำเนินงานของศูนย์ฯ ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จะมีภาระกิจหลักที่ดำเนินการอยู่ 2 เรื่อง คือ
เรื่องแรก คือการฝึกอบรม ผลิตบุคลากรด้านการอนุรักษ์พลังงาน ใน 2 หลักสูตร คือ 1. ฝึกอบรมหลักสูตรผู้ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน ระดับผู้ช่วยผู้ชำนาญการ และ 2. ฝึกอบรมหลักสูตรผู้ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน ระดับผู้ชำนาญการ
“มหาวิทยาลัยฯ ได้รับใบอนุญาตให้เป็นหน่วยงานฝึกอบรมด้านการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานจาก กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หรือ พพ. กระทรวงพลังงาน กล่าวคือ กรม พพ. ต้องการสร้างบุคลากรในเรื่องการตรวจสอบรับรองการจัดการพลังงาน ซึ่งเป็นหลักสูตรตามกฎหมาย คนที่เรียนจบไปก็จะสามารถไปประกอบวิชาชีพผู้ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานตามกฎหมายได้ หน้าที่คือเป็นผู้ไปออกตรวจโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมตาม พ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งต้องมีการตรวจสอบรับรองเป็นประจำทุกๆ ปี เพื่อจะทำรายงานผลการตรวจสอบส่ง พพ. คล้ายๆ ที่บริษัทฯ ต่างๆ ต้องมีการว่าจ้างผู้สอบบัญชีทุกๆ ปี” ดร.ประพจน์ กล่าว พร้อมระบุด้วยว่า
“ที่ไปที่มาก็คือ มีกฎหมายกำหนดไว้ว่า อาคารหรือโรงงานที่มีการใช้พลังงานมากๆ จะต้องมีการจัดการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 8,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเมื่ออาคารหรือโรงงานเหล่านี้ดำเนินการจัดทำวางระบบการอนุรักษ์ขึ้นมาแล้ว ต้องมีการตรวจสอบว่าได้ทำจริงและมีประสิทธิภาพหรือไม่ ซึ่งก็จะเป็นหน้าที่ของผู้ตรวจสอบต้องเข้าไปดำเนินการนั่นเอง สำหรับผู้จะเข้ามาฝึกอบรมคือบุคคลทั่วไปที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดก็สามารถเข้ามาอบรม และเมื่ออบรมเสร็จแล้วหากไปเข้าสอบกับกรม พพ. แล้วสอบผ่าน ก็จะมีคุณสมบัติไปประกอบอาชีพเป็นผู้ตรวจสอบได้ ปัจจุบันมีหน่วยงานอบรมที่ได้รับการรับรองแบบเดียวกันนี้มีอยู่ 6 แห่ง แต่สำหรับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แห่งนี้ เป็นที่น่าภูมิใจ เพราะมีบุคลากรที่ผ่านการฝึกอบรมจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้วผ่านการสอบจาก กรม พพ. จนไปประกอบวิชาชีพผู้ตรวจสอบรับรองการจัดการพลังงานได้มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ
ส่วนเรื่องที่สอง จะเป็นโครงการวิจัยให้การปรึกษาและให้คำแนะนำ ปัจจุบันดำเนินการอยู่หลายโครงการ แต่โครงการที่มีประโยชน์อย่างยิ่งกับผู้ประกอบการไทยในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว คือ โครงการเร่งรัดการจดทะเบียนเครื่องจักรของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งเจ้าของโครงการคือกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ศูนย์ฯ เป็นที่ปรึกษาโครงการดังกล่าว ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้โรงงานที่เข้าข่ายได้รับคำแนะนำในการพัฒนาเครื่องจักรให้ทันสมัย ด้วยการปรับปรุงหรือการปรับเปลี่ยนเป็นเครื่องจักร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนด้านพลังงาน
ดร.ธิรินทร์ ให้ข้อมูลว่า “มหาวิทยาลัยฯ โดยศูนย์ฯ จะจัดส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปตรวจสอบเครื่องจักรและระบบการผลิต เพื่อดำเนินการนำเสนอแนวทางการปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงเครื่องจักรหรือระบบการผลิต โดยผู้เชี่ยวชาญจะทำสเป็กให้ ประเมินราคาให้ และมีการคำนวณให้รู้ว่า เมื่อดำเนินการตามที่ระบุไว้จะสามารถลดต้นทุนไปได้เท่าไหร่ ประสิทธิภาพจะเพิ่มขึ้นเท่าไร จะต้องลงทุนเท่าไหร่ และจะคืนทุนภายในกี่ปี รวมทั้งศูนย์ฯ ยังดึงธนาคารทั้งของภาครัฐและเอกชน ได้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าฯ ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารเพื่อการเกษตรฯ เข้ามาร่วมปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการด้วย หากผู้ประกอบการรายใดประสงค์จะกู้ไปดำเนินการปรับปรุงเครื่องจักร”
ดร.ธิรินทร์ เปิดเผยต่อไปว่า ศูนย์ฯ ยังได้เคยบริหารโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของพลังงาน อาทิ โครงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของศูนย์ความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างประเทศไปสู่การปฏิบัติ และโครงการสนับสนุนการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนปรับปรุงเครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน
โดยโครงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของศูนย์ความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างประเทศไปสู่การปฏิบัตินั้น มีเป้าหมายส่งเสริมเรื่องการลงทุนด้านอนุรักษ์พลังงาน โดยเริ่มต้นเมื่อช่วงปี 2560 สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงานมีความคิดจัดตั้งศูนย์พลังงานระหว่างประเทศขึ้น โดยมีภาระกิจสำคัญคือ สนับสนุนให้นักลงทุนไทยสามารถไปลงทุนด้านพลังงานในต่างประเทศได้ เช่น บริษัทที่ทำงานด้านวิศวกรรมสามารถไปรับงานในประเทศเพื่อนบ้าน ผู้ประกอบการด้านพลังงานสามารถไปค้าขายสินค้านอกประเทศได้ และกลับกันหากนักลงทุนต่างประเทศอยากเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย ก็ย่อมที่จะต้องการที่จะจับมือเป็นพาร์ตเนอร์กับผู้ประกอบการไทยเพื่อร่วมทุนหรือร่วมดำเนินงาน โดยศูนย์ความร่วมมือฯ นี้ จะช่วยประสานงาน ให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้น ซึ่งศูนย์วิจัยและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี ก็ได้รับมอบหมายจากสำนักงานปลัดกระทรวงพลังาน ให้เป็นที่ปรึกษาโครงการในการตั้งศูนย์ความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างประเทศนี้ขึ้นมาตั้งแต่เริ่มแรก
สำหรับโครงการสนับสนุนการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนปรับปรุงเครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เป็นการส่งเสริม สนับสนุนอาคารหรือโรงงานให้ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีคุณภาพสูง ที่จะส่งผลให้ต้นทุนด้านพลังงานลดลง วิธีการส่งเสริมก็คือ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หรือ พพ. จะให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ประกอบการในการปรับเปลี่ยนวัสดุอุปกรณ์สำหรับอาคารหรือโรงงาน ร้อยละ 30 ของราคาวัสดุอุปกรณ์ที่จะปรับเปลี่ยน แต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท และ เมื่อมีผู้ประกอบการสมัครเข้าร่วมโครงการนี้กับ พพ. ทางศูนย์ฯ จะเข้าไปทำหน้าที่เป็นคนกลางในการเข้าเข้าตรวจสอบว่า ผู้ประกอบการได้มีการปรับเปลี่ยนจริงหรือไม่ พร้อมเป็นผู้ประเมินราคากลาง มิให้เกิดการแจ้งราคาเกินกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งจะต้องผ่านการตรวจสอบให้เรียบร่อยก่อน จึงจะมีการโอนเงินอุดหนุนให้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้
สำหรับปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานของศูนย์ฯ ดร.ประพจน์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน 2 เรื่องคือ ประการแรก สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลเกิดอุปสรรคในด้านการฝึกอบรม ทั้งการจำกัดผู้เข้าอบรม จากมาตรการล็อกดาวน์ จากการห้ามรวมกลุ่ม จนไม่สามารถจัดสถานที่จัดอบรมได้ แม้จะมีบางหลักสูตรที่สามารถดำเนินการจัดอบรมด้วยวิธีออนไลน์ได้ แต่ก็มีบางหลักสูตรไม่สามารถทำได้ ทำให้ต้องเลื่อนการจัดออกไป ส่งผลให้การพัฒนาบุคลากรด้านพลังงานไม่เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้
ขณะที่อีกปัญหาหนึ่งที่เคยประสบคือการที่ศูนย์ฯ รับจ้างเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานของรัฐ เพื่อทำหน้าที่เป็นคนกลางในการกำหนดเสป็ค การกำหนดราคากลาง ตรวจรับงาน แทนหน่วยงานภาครัฐที่เป็นผู้ว่าจ้าง ซึ่งบางครั้งก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการเข้าทำความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้รับเหมาหรือผู้ขายอุปกรณ์ที่ยังทำงานไม่ได้ตามสเป็ก ตามคุณสมบัติที่กำหนดเอาไว้ และเมื่อมีการแจ้งไปให้ดำเนินการแก้ไข หรือในบางครั้งผู้รับเหมาดำเนินการแล้วไม่เป็นไปตามแผนเงื่อนก็คือดีเลย์ ซึ่งก็จะต้องได้รับการเร่งรัดให้เป็นไปตามแผน อาจจะทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้น และมหาวิทยาลัยฯ ถูกตั้งประเด็นไม่เป็นกลาง ซึ่งข้อเท็จจริงแล้ว จุดยืนของมหาวิทยาลัยฯ คือเป็นคนกลาง เป็นนักวิชาการ เข้าไปทำงานเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน ถ้าฝ่ายผู้รับเหมาหรือผู้ขายอุปกรณ์ไม่สามารถส่งมอบงานที่เป็นมาตรฐาน ก็เป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยต้องเข้าไปชี้แจ้ง บอกให้ดำเนินการให้ถูกต้อง หรือกลับกันหากเจ้าของโครงการที่ได้รับบริการจากผู้รับเหมาหรือผู้ขายอุปกรณ์ปฏิเสธการรับงานเนื่องจากต้องการให้มีการแก้ไขงานให้มีมาตรฐานเพิ่มเติมจากที่ตกลงกันหรือสูงกว่าที่ตกลงทำสัญญากันไว้ ก็เป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยฯ ที่ต้องทำความเข้าใจกับหน่วยงานรัฐผู้ว่าจ้างเช่นเดียวกันว่าไม่สามารถทำได้ ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาและไม่ได้เอียงไปเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอย่างแน่นอน ดร.ประพจน์ กล่าวในที่สุด