ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
ส.ส.วิโรจน์ เปิดเอกสาร ระบุ สธ.จะนิรโทษกรรมกึ่งเหมาเข่ง รวมผู้จัดหา-บริหาร ‘วัคซีน’ ตั้งคำถามควรหรือไม่
07 ส.ค. 2564

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Wiroj Lakkhanaadisorn  โดยระบุว่า “ผมได้รับเอกสารที่การนำเสนอแนวทางในการปรับปรุงกฎหมายเพิ่มเติม เพื่อคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์สำหรับการปฏิบัติงานตามข้อสังการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฉบับนี้ https://drive.google.com/…/1QsC3KxcyVWtqJDZgYAe…/view… ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นเอกสารฉบับทางการหรือไม่ เป็นเอกสารฉบับล่าสุดหรือเปล่า ปัจจุบันได้มีการแก้ไข ปรับปรุงอะไรไปบ้างแล้วหรือไม่ อย่างไรก็ตาม จากเอกสารที่ผมได้รับ ผมขออนุญาตให้ทรรศนะของผมในเบื้องต้นก่อนดังนี้ ส่วนข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร คงต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจง เพื่อให้สังคมเกิดความกระจ่างอีกครั้งหนึ่งต่อไป

โดยแนวคิดสำคัญของเอกสารนำเสนอฉบับนี้คือ การตรากฎหมาย พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ…. โดยหลักการแล้ว ในสถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้ การจำกัดความรับผิดทั้งทางอาญาและแพ่งให้กับแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข ที่ปฏิบัติด่านหน้า ที่ทำงานเต็มความสามารถ โดยสุจริต และไม่ได้เลือกปฏิบัติ ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้น เป็นสิ่งที่ควรทำอยู่แล้ว

แต่ข้อเท็จจริงหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ การที่สถานการณ์การแพร่ระบาดเกิดขึ้นรุนแรงที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่งมาจากการตัดสินใจเชิงนโยบาย ทั้งๆ ที่ควรจะคาดการณ์ได้ล่วงหน้าอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น

1) การไม่กระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีน 2) การจัดฉีดวัคซีนที่ล่าช้า ขาดการวางระบบในการจัดการ และการบริหารฐานข้อมูลที่ดี 3) การเบิกจ่ายงบประมาณในการเตรียมความพร้อม ทั้งด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา และเวชภัณฑ์ต่างๆ ที่จำเป็น ที่ขาดประสิทธิภาพ ดูเบาต่อสถานการณ์

ซึ่งประเด็นต่างๆ ข้างต้นนี้เป็นที่สงสัยจากภาคประชาชนว่า เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนต้องล้มตายเป็นจำนวนมาก ต้องตายคาบ้าน ตายกลางถนน ซึ่งเป็นความสูญเสียอย่างที่ไม่ควรจะเป็น ทำให้เด็กตัวเล็กๆ เพียงไม่กี่ขวบปี หลายคน ต้องเป็นกำพร้า และจะไม่ได้รับโอกาสที่จะได้กอดพ่อแม่ของพวกเขาอีก และความเสียหายทางเศรษฐกิจที่มากมายเหลือคณานับ หลายคนต้องสิ้นเนื้อประดาตัว แถมยังต้องแบกหนี้สินที่ล้นพ้นตัวอีก ซึ่งควรต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริง ไม่ควรที่จะออกกฎหมาย “นิรโทษกรรมแบบกึ่งเหมาเข่ง”

ในข้อที่ 7. ที่จะคุ้มครองให้บุคคลและคณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้ง หรือมอบหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหา หรือบริหารวัคซีน ซึ่งควรจะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาล ประชาชนทุกข์ยากแสนสาหัสนั้น มีความเกี่ยวข้องกับบุคคลหรือคณะบุคคลเหล่านี้หรือไม่

ข้อยกเว้นที่ระบุเอาไว้ ซึ่งมีอยู่แค่ 3 ข้อ ได้แก่ – การกระทำเป็นไปโดยไม่สุจริต – การกระทำเป็นไปโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง – การกระทำเกิดจากการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เป็นข้อยกเว้นที่กว้างเกินไป ซึ่งควรจะเขียนเพิ่มเติมให้เฉพาะเจาะจงและรัดกุมมากขึ้น เช่น “การกระทำและการตัดสินใจใดๆ ที่ไม่สอดคล้องกับหลักวิชา หรือผลการศึกษาวิจัย ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองให้ปราศจากความรับผิดจาก พ.ร.ก.ฉบับนี้”

ใจความสำคัญก็คือ หากมีการสอบสวนข้อเท็จจริงในภายหลัง แล้วพบว่า การตัดสินใจของบุคคลหรือคณะบุคคลเหล่านี้ ในการจัดหา และจัด หรือบริหารวัคซีน หากเป็นไปโดยขัดกับหลักวิชา หรือตัดสินใจโดยที่ไม่มีผลการศึกษาวิจัยที่ทำอย่างเป็นระบบมาอ้างอิง หรือเป็นการตัดสินใจโดยขัดกับผลการศึกษา และงานวิจัยที่ปรากฎในแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ บุคคลเหล่านี้ก็ควรต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ศาลยุติธรรมวินิจฉัยว่า ควรได้รับโทษทางอาญาหรือทางแพ่ง หรือไม่ ผิด หรือถูก ก็ควรให้กระบวนการยุติธรรมเป็นผู้ตัดสิน โดยพิจารณาจากพยานหลักฐานที่รอบคอบรอบด้าน ไม่ควรที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบกึ่งเหมาเข่งแบบนี้”

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...