ทส. ยืนยันห้ามนำเข้าเศษพลาสติก พร้อมผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์เศษพลาสติกในประเทศทั้งหมด ภายในระยะเวลา 5 ปี
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (อคพ.) กล่าวว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เน้นย้ำชัดเจนว่า ทส. มีนโยบายส่งเสริมการใช้เศษพลาสติกในประเทศให้มากที่สุด โดยมติเดิมที่มีการห้ามนำเข้าเศษพลาสติกภายในปี 2563 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเศษพลาสติกชนิด PET แต่ในการประชุมเมื่อมกราคม 2564 ได้พิจารณาครอบคลุมเศษพลาสติกทุกชนิด ซึ่งพบว่า มีเศษพลาสติกบางชนิดที่ไม่เพียงพอในประเทศ จึงเป็นที่มาในการกำหนดให้นำเข้าเศษพลาสติก แต่ให้นำเข้าเพียง 50% ของกำลังการผลิต หรือไม่เกิน 250,000 ตัน ในปี 2564 และจะลดลงปีละ 20% โดยในปี 2565 นำเข้าไม่เกิน 200,00 ตัน ปี 2566 ไม่เกิน 150,00 ตัน ปี 2567 ไม่เกิน 100,000 ตันปี 2568 ไม่เกิน 50,000 ตัน และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป ห้ามนำเข้าเศษพลาสติก โดยให้มีการใช้เศษพลาสติกในประเทศ 100 %
นายอรรถพล กล่าวว่า ทส. ได้คำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาการนำเข้า เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเป็นถังขยะโลกในการรองรับเศษซากขยะจากประเทศอื่น โดยกระทรวงพาณิชย์จะนำไปกำหนดเป็นเงื่อนไขในการออกประกาศอนุญาตผู้ประกอบการที่ต้องการนำเข้าทุกราย สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่เขตปลอดอากรและเขตประกอบการเสรี ซึ่งปัจจุบันมีการนำเข้าเศษพลาสติกประมาณ 70,000 ตัน ในระยะเวลาอันใกล้จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขเดียวกัน
การพิจารณาผ่อนปรนการนำเข้าเศษพลาสติก ได้คำนึงถึงความสมดุลของทั้งสองฝ่ายทั้งผู้ที่ต้องการนำเข้าและไม่ต้องการให้นำเข้าเศษพลาสติก เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในปัจจุบัน ทั้งนี้ ภาครัฐจะเร่งส่งเสริมให้มีการคัดแยกขยะเพื่อให้ได้พลาสติกที่มีคุณภาพ ไม่ปนเปื้อน และสามารถนำไปเป็นวัตถุดิบได้เลย รวมทั้ง จัดเวทีพบปะระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการรีไซเคิลพลาสติกในประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นคู่ขนานไปกับการลดการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศให้เกิดความยั่งยืนต่อไป นายอรรถพล กล่าว