กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (8 ส.ค.64) ว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ด้านรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ แล้วช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.เชียงราย 41 มิลลิเมตร // อุดรธานี 61 มิลลิเมตร // กาญจนบุรี 37 มิลลิเมตร // กรุงเทพมหานคร 34 มิลลิเมตร // สระแก้ว 24 มิลลิเมตร และระนอง 76 มิลลิเมตร โดยแม่น้ำสายหลักภาคตะวันออก ภาคตะวันตกน้ำน้อยถึงปกติและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น , ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และแม่น้ำโขงมีน้ำน้อยถึงปกติและแนวโน้มลดลง ภาพรวมปริมาณน้ำทั้งประเทศ 40,342 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 49 และแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 35,720 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 50 ส่วนจุดเฝ้าระวังน้ำน้อยยังคงอยู่ในพื้นที่ 8 แห่ง เฝ้าระวังน้ำมาก 1 แห่ง บริเวณเขื่อนน้ำพุง พร้อมคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก-ดินถล่มช่วง 2-3 วันนี้ ต้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ น่าน ตาก อุบลราชธานี กาญจนบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา นครศรีธรรมราช และกระบี่
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้ติดตามมาตรการรับมือฤดูฝนในส่วนของมาตรการที่ 6 กระทรวงมหาดไทย เร่งแก้ปัญหาผักตบชวา ด้วยการให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมกับ 5 หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมเจ้าท่า กรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร และทุกจังหวัด เร่งจัดเก็บผักตบชวาได้กว่า 4.5 ล้านตันเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ส่วนกรมการปกครอง จัดตั้งชมรมคนริมน้ำกว่า 7,656 ชมรม มีสมาชิกกว่า 1.4 ล้านคน ได้ร่วมกับทุกภาคส่วนจัดกิจกรรมกำจัดผักตบชวาและวัชพืช 20,871 กิจกรรม พร้อมสร้างรายได้จากผักตบชวา ขณะที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จัดสรรเรือท้องแบนติดเครื่องยนต์ให้ อปท. 1,582 ลำ เพื่อจัดเก็บผักตบชวาและวัชพืชในแหล่งน้ำ 1,899 แห่งทั่วประเทศ
สำหรับมาตรการที่ 4 มาตรการที่ 7 และมาตรการที่ 9 กรมชลประทาน กำลังเร่งดำเนินการ หลังกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ยังคงมีปริมาณฝนตกหนักในบางพื้นที่ช่วงวันที่ 6 - 8 สิงหาคมนี้ จึงให้โครงการชลประทานทั่วประเทศปฏิบัติตามมาตรการรับมือหน้าน้ำหลากอย่างเคร่งครัด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม (RULE CURVE) และเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ ที่สำคัญเร่งเก็บกักน้ำและบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพ ควบคู่กับตรวจสอบความพร้อมของอาคารชลประทานให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ