นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจ่ายเงินเยียวยากลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการตามมาตรการบรรเทาผลกระทบโควิด-19 ที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เห็นชอบขยายพื้นที่เยียวยาผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการโควิด-19 จาก 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด เพิ่ม จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา ใน 9 ประเภทกิจการ ได้แก่ กิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมบริการด้านอาหาร กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ กิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า สาขาขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ สาขากิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน สาขากิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ และสาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร โดยให้มีอัตราการจ่ายและวิธีการจ่ายเงินเช่นเดิมนั้นว่า ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งในวันนี้เป็นวันที่ สปส.ได้โอนเงินให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และอยุธยา
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า สำหรับการจ่ายเงินเยียวยานายจ้าง ลูกจ้าง มาตรา 33 ในพื้นที่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา มีผู้ประกันตนได้รับสิทธิจำนวน 272,746 คน นายจ้าง 19,213 ราย ใช้วงเงินทั้งสิ้น 1,522 ล้านบาท แยกเป็น นายจ้าง 841 ล้านบาท และลูกจ้าง 681 ล้านบาท โดยวันนี้ประกันสังคมได้โอนเงินให้ผู้ประกันตนผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชนเท่านั้น ส่วนนายจ้างบุคคลธรรมดา จะโอนเงินผ่านบัญชีพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชนเช่นกัน และนายจ้างสถานะนิติบุคคล จะโอนเข้าบัญชีธนาคารตามชื่อนิติบุคคลนายจ้าง
“การโอนเงินเยียวยาแก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ใน 3 จังหวัด 9 กิจการในวันนี้ ถือเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ภาคแรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตามเจตนารมย์ของท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อให้ทุกคน ทุกกลุ่ม เดินหน้าต่อไปได้และก้าวข้ามสถานการณ์โควิด
ในครั้งนี้ไปด้วยกัน”นายสุชาติ กล่าวในท้ายสุด