นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ประเทศไทยเหลือเวลาอีก 3 เดือนก่อนสิ้นสุดฤดูฝนปีนี้ หลังกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายนจะมีฝนตกชุกที่สุดร้อยละ 60 – 80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากบางแห่ง อาจก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ที่สำคัญมีโอกาสสูงจะมีพายุหมุนเขตร้อน (ดีเปรสชั่นโซนร้อนและไต้ฝุ่น) เคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบนบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ส่วนเดือนตุลาคมคาดการณ์ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นกับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากบางแห่ง จึงกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินงานตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน เพื่อรับน้ำและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยให้ประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย การเตรียมความพร้อมพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำและพื้นที่อื่นๆรับน้ำหลาก ความพร้อมของคันกั้นน้ำ เครื่องสูบน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำ การกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ การกำจัดผักตบชวาและการกำจัดขยะในคลอง ควบคู่กับสร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้รับข้อมูลสถานการณ์น้ำ ทั้งนี้ ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศ ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 41,496 ล้านลูกบาศก์เมตร จากการประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยพบเดือนสิงหาคม 2564 - มกราคม 2565 มีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย 2,988 ตำบล 630 อำเภอ ในพื้นที่ 71 จังหวัดทั่วประเทศ ขณะที่การเตรียมความพร้อมพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรับน้ำหลากในพื้นที่ภาคกลางบริเวณทุ่งบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ได้เพาะปลูกข้าวตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมาในพื้นที่ 265,000 ไร่ เริ่มเก็บเกี่ยวแล้ว 165,000 ไร่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างทยอยเก็บเกี่ยวแล้วจะเริ่มรับน้ำเข้าทุ่งได้ประมาณต้นเดือนกันยายน ประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อหน่วงน้ำเก็บไว้ในทุ่งลดปริมาณน้ำที่จะลงไปสมทบในพื้นที่ตอนล่าง และมีแผนระบายน้ำออกจากทุ่งช่วงเดือนพฤศจิกายน
เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงพื้นที่เพาะปลูกข้าว 12 ทุ่งตอนล่าง ว่า เกษตรกรเริ่มเพาะปลูกวันที่ 1 พฤษภาคม ภาพรวมเพาะปลูกแล้ว 1.023 ล้านไร่ แล้วจะเริ่มรับน้ำเข้าทุ่งประมาณปลายเดือนกันยายน สามารถรับน้ำได้ถึง 1,200 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนพื้นที่ทุ่งพระยาบรรลือและทุ่งรังสิตตอนใต้จะไม่มีแผนรับน้ำเข้าทุ่งปีนี้ เนื่องจากจะใช้เป็นทางน้ำผ่านไปยังระบบระบายน้ำในพื้นที่ตอนล่างและเร่งระบายออกสู่ทะเลต่อไป