ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
รัฐบาลเดินหน้าช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย กำหนดค่าทวงหนี้งวดแรก 50 บาท-ค่างวดต่ำกว่า 1 พันบาท งดเก็บค่าทวงถาม
15 ส.ค. 2564

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงถามหน้ี เรื่องการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆในการทวงถามหนี้ ไม่เกิน 1 พันบาท ซึ่งจะมีผลบังคับหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 30 วัน เป็นต้นไป โดยจะเป็นประโยชน์ต่อลูกหนี้รายย่อยกว่า 12.24 ล้านบัญชี

นายอนุชา ยังกล่าวว่า เป็นผลจากการทำงานทุกฝ่ายร่วมกันในรัฐบาล โดยคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ที่มีพลเอก อนุพงศ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานได้เร่งดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้กำหนดมาตรการทวงถามหนี้ที่ไม่เป็นธรรมกับประชาชน โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยทึ่ร่วมกันผลักดันการประกาศเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ ภายในต้นเดือนกันยายน 2564 นี้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้รับข้อร้องเรียนเรื่องการเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้ที่ไม่เป็นธรรม ปีละหลายพันเรื่อง ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาหนี้สินที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนรายย่อยโดยตรงซึ่งความเดือดร้อนที่พบสามารถแบ่งได้ 3 ส่วน ดังนี้

(1) การเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้ในอัตราสูงมากและแพงเกินสมควร โดยเฉพาะค่าทวงถามหนี้ภาคสนามสำหรับสินเชื่อเช่าซื้อ ลูกหนี้จำนวนไม่น้อยถูกเรียกเก็บ 2-4 หมื่นบาทต่อครั้ง

 (2) การเก็บค่าทวงถามหนี้แบบไม่จำกัดจำนวนครั้ง ผู้ให้บริการจะเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้กี่งวดก็ได้ ทำให้ลูกหนี้บางรายถูกเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้เป็นสิบๆ งวด

(3) ความเดือดร้อนที่พบส่วนใหญ่จะตกอยู่กับประชาชนที่จ่ายค่างวดไม่สูงนัก กลายเป็นว่าค่าทวงถามหนี้อาจจะใกล้เคียงหรือบางครั้งสูงกว่าค่างวดที่ไปทวงเสียอีก

คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ ได้ประกาศกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ ในการทวงถามหนี้ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 มีสาระสำคัญ ดังนี้

1) อัตราค่าทวงถามหนี้กรณีทั่วไปรวมจำนำทะเบียน ให้คิดค่าทวงถามหนี้ไม่เกิน 50 บาทต่อรอบการทวงถามหนี้ ในกรณีลูกหนี้มีหนี้ค้างชำระ 1 งวด และให้คิดไม่เกิน 100 บาทต่อรอบการทวงถามหนี้ ในกรณีลูกหนี้มีหนี้ค้างชำระมากกว่า 1 งวด

2) อัตราค่าทวงถามหนี้ภาคสนามจะเก็บเพิ่มเติมสำหรับกรณีสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ สำหรับค่าใช้ลงพื้นที่ติดตามทวงถามหนี้ตามที่เกิดขึ้นจริง ไม่เกิน 400 บาทต่อรอบการทวงถามหนี้ และจะเก็บได้ต่อเมื่อลูกหนี้มีหนี้ค้างชำระมากกว่า 1 งวด

3) การยุติการเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้ เพื่อแก้ปัญหาการเก็บค่าทวงถามหนี้หลายสิบงวดแบบไม่มีข้อจำกัด คณะกรรมการฯจึงกำหนดให้การเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้จะยุติเมื่อผู้ให้บริการได้รับชำระหนี้ครบตามจำนวน หรือ มีหนังสือบอกเลิกสัญญา แล้วแต่เหตุการณ์ใดเกิดขึ้นก่อน

4) การกำหนดค่างวดที่ต่ำกว่า 1,000 บาท ไม่ให้มีการเก็บค่าทวงถามหนี้ เพื่อคุ้มครองประชาชนรายย่อยที่จ่ายค่างวดจำนวนน้อย ๆ ไม่ให้ต้องจ่ายค่าทวงถามหนี้แพงเกินไปเช่น สมมติมีค่างวดรถมอเตอร์ไซค์ 750 บาท ถ้าลูกหนี้ค้างชำระค่างวด 1 งวด ไม่ให้มีการเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้ แต่ถ้าเกิดค้างชำระอีกเป็น 2 งวดค่างวดค้างชำระสะสมจะเท่ากับ 1,500 บาท กรณีเช่นนี้สามารถเก็บค่าทวงถามหนี้ได้ 50 บาท

การประกาศกำหนดอัตราค่าทวงถามหนี้ที่ชัดเจนในครั้งนี้ จะช่วยให้ลูกหนี้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเหมือนสภาวะสุญญากาศที่เจ้าหนี้สามารถเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้กี่บาทก็ได้ และกี่ครั้งก็ได้ แต่ในอนาคตจากนี้ไป การทวงถามหนี้จะมีกติกาที่ชัดเจนขึ้น เช่น ในกรณีสินเชื่อทั่วไป ถ้ามีการผิดนัดชำระหนี้ 4 งวด จะเก็บค่าทวงถามในแต่ละงวดเพียง 50,100,100,100 บาทรวมเป็น 350 บาท ในขณะที่ถ้าเป็นกรณีสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่มีค่าทวงถามหนี้ภาคสนามจะอนุญาตให้เก็บค่าทวงถามหนี้ภาคสนามได้ไม่เกินงวดละ 400 บาท โดยเริ่มเก็บได้ในงวดที่ 2 และต้องหยุดเมื่อมีการบอกเลิกสัญญา

ทั้งนี้ ในกรณีที่ประชาชนพบการเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้ในอัตราที่สูงกว่าอัตราที่คณะกรรมการฯกำหนด หรือพบการทวงถามหนี้ในลักษณะข่มขู่ไม่เหมาะ สามารถร้องเรียนมาที่คณะกรรมการทวงถามหนี้ โทร 1567 สายด่วน ศูนย์ดำรงธรรม

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...