นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ รองอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ยังคงระบาดต่อเนื่องและรุนแรงเป็นปีที่ 2 และยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า จะคลี่คลายลงเมื่อใด ได้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างหนักหน่วงและกว้างขวาง ซึ่งพี่น้องชาวนาไทยก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน กรมการข้าวจึงตระหนักต่อปัญหาที่พี่น้องชาวนากำลังเผชิญ โดยฉพาะเรื่องของความต้องการเมล็ดพันธุ์ดีที่ยังไม่เพียงพอ โดยในปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 70 ล้านไร่ มีความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีเพาะปลูกปีละประมาณ 1,364,800 ตัน
แต่ในขณะเดียวกันกรมการข้าว รวมไปถึงสหกรณ์การเกษตร ศูนย์ข้าวชุมชน และภาคเอกชนร่วมกัน จะสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ดีได้ประมาณ 537,000 ตัน จำแนกเป็น กรมการข้าว 95,000 ตัน สหกรณ์การเกษตร 30,000 ตัน ศูนย์ข้าวชุมชน 112,000 ตัน และภาคเอกชน 300,000 ตัน หรือประมาณ 40% ของปริมาณเมล็ดพันธุ์ดีต้องการใช้ในการยกระดับคุณภาพและปริมาณการผลิตข้าวของประเทศไทย ถึงแม้ต่อมากรมการข้าวจะได้รับงบประมาณเงินกู้เพื่อใช้ดำเนินการเพิ่มศักยภาพการผลิตและปรับปรุงเครื่องจักรอุปกรณ์ปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวไป จนสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ได้ส่วนหนึ่งจากเดิมที่เคยมีกำลังการผลิต 85,000–95,000 ตัน/ปี เป็น 120,000 ตัน/ปี
รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวต่อไปว่า เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ดีให้ให้กับพี่น้องชาวนา กรมการข้าวจึงเสนอของบประมาณเพื่อดำเนินงานโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตและประสิทธิภาพการบริหารจัดการเมล็ดพันธุ์ข้าวขึ้น เพื่อรองรับเป้าหมายการผลิตเมื่อดำเนินการโครงการเดิมเสร็จสิ้น 120,000 ตัน/ปี และเพิ่มกำลังการผลิตอีก 32,000 ตัน/ปี รวมเป็น 152,000 ตัน/ปี ซึ่งจะก่อให้เกิดอาชีพผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้กรมการข้าว จำนวน 4,400 ราย กระตุ้นการจ้างแรงงานภาคการเกษตรในชุมชน สนับสนุนและส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเข้าไปในระบบการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ ยกระดับ ปริมาณและคุณภาพผลผลิตข้าวของประเทศ
โดยมีเป้าหมายที่จะดำเนินการคือ การเพิ่มศักยภาพโรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ โดยการจัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ ปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อทดแทนของเดิมที่มีอายุการใช้งานมานาน และประสิทธิภาพการทำงานต่ำ ไม่สอดคล้องกับความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ปัจจุบัน จำนวน 9 ชุด และจะเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยการก่อสร้างอาคารโรงเก็บเมล็ดพันธุ์ ปรับอากาศพร้อมครุภัณฑ์ประกอบ จำนวน 15 แห่ง สำหรับใช้เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวระยะยาวเพื่อ รองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การเกิดโรคและศัตรูข้าวระบาด ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การผันผวนของความต้องการ พันธุ์ข้าว ราคาข้าวเปลือก เศรษฐกิจครัวเรือนและสำรองไว้เพื่อความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศ
"สำหรับแผนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน มีกระบวนการเริ่มจากกรมการข้าว โดยกองวิจัยและพัฒนาข้าวเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์คัดและเมล็ดพันธุ์หลัก กองเมล็ดพันธุ์ข้าวรับข้าวพันธุ์หลักจากกองวิจัยและพัฒนาข้าวมาผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ขยาย และหลังจากนั้นสมาคมผู้รวบรวม ศูนย์ข้าวชุมชน สหกรณ์ เป็นผู้รับเมล็ดพันธุ์ขยายต่อไป ซึ่งหากพบความเสียหายของเมล็ดพันธุ์ข้าวผู้แทนจำหน่ายให้ชาวนา จะต้องแสดงหลักฐานบาร์โค้ดที่มาของเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ชัดเจน เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้" นายณัฏฐกิตติ์ กล่าว